“พิชัย”ระบุ ระดับหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ 70%ต่อจีดีพี
“พิชัย”ระบุ ระดับหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ 70%ต่อจีดีพี ขณะที่ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 90% ต่อจีดีพี ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว
#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เขากล่าวในงานสัมมนา ISANNEXT ที่จัดโดยมติชน ว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวน 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 90 % ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันจีดีพีของประเทศมีมูลค่าราว 19ล้านล้านบาท
“การที่ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 90 % ของจีดีพี ดังกล่าว ถือว่า เป็นระดับที่สูงเกินไป ซึ่งมันควรอยู่ที่แค่ 70 %”
เขากล่าวว่า นอกจากปัญหาที่ประชาชนมีหนี้ในระดับสูงแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้อีกด้วย โดยจากหนี้ 16ล้านล้านบาท มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระแล้ว ไม่สามารถชำระได้ อยู่ 1ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการ คุณสู้ เราช่วย สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมีมูลหนี้ราว 8แสนล้านบาท ด้วยการพักดอกเบี้ยไว้ 3 ปี และในช่วง 3 ปี ให้ผ่อนเงินต้นลดลงจากเดิม โดยปีแรกผ่อน 50 % ของค่างวดเดิม ปีที่สอง เป็น 70 % และปีที่สามเป็น 90 % ส่วนดอกเบี้ยที่พักไว้ 3 ปี
“หากลูกหนี้สามารถทำได้ตามเงื่อนไขของโครงการก็จะยกดอกเบี้ยเหล่านั้นให้ ซึ่งใน3 ปี รวมเป็นภาระดอกเบี้ยที่จะยกให้ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลและสถาบันการเงินร่วมกันออกคนละครึ่ง ซึ่งลูกหนี้ทีมีคุณสมบัติตามที่กำหนด จะต้องมาลงทะเบียน ภายใน 28ก.พ.นี้”
เขากล่าวว่า เศรษฐกิจในภาคอีสานจะได้รับประโยชน์จากการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจจีน ที่กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เนื่องจาก จีน กำหนดเส้นทางขนส่งสินค้า ซึ่งมีสองเส้นทางที่ผ่านมายังภาคอีสาน คือ เส้นทางจากจีนทางใต้ วิ่งผ่านลาว เวียงจันทน์ มาหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา กรุงเทพ และลงไปทางใต้ของไทย กับอีกเส้นทางหนึ่งคือ ที่เรียกว่า East-West Corridor ที่วิ่งจากจีน ทะลุพม่า มาผ่านภาคอิสานของไทยเช่นกัน และทะลุไปลาว และเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่าเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งสองเส้นทางดังกล่าวจะนำพาความเจริญมาสู่ภาคอิสาน
นอกจากนี้ ภาคอีสานยังจะมีโครงการรถไฟความเร็วสู่ ที่เริ่มจาก กทม. ผ่านอยุธยา สระบุรี และมานครราชสีมา ซึ่งเป็นเฟสหนึ่งของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4ปีข้างหน้า ขณะที่ เฟสสอง ที่จะเชื่อมจากนคราชสีมา ไปข่อนแก่น อุดร และหนองคาย ไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของลาว ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในอีก 7ปีข้างหน้า