รีเซต

สปคม.เผยร้านกึ่งผับทำโควิดระบาดในกรุง ขู่ถอนใบอนุญาต ชี้ให้ก๊งถึง 3 ทุ่ม ยังพบติดเชื้อ

สปคม.เผยร้านกึ่งผับทำโควิดระบาดในกรุง ขู่ถอนใบอนุญาต ชี้ให้ก๊งถึง 3 ทุ่ม ยังพบติดเชื้อ
มติชน
13 มกราคม 2565 ( 14:05 )
73

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,167 ราย เสียชีวิต 14 ราย อัตราเสียชีวิตทรงตัวและค่อนข้างต่ำลง โดยมีผู้ป่วยอาการหนักที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 520 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 110 ราย ขณะที่ ข้อมูลเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 939 ราย เสียชีวิต 3 ราย รักษาหายเพิ่มกว่า 300 ราย อัตราการเจ็บป่วยกระจายทุกกลุ่มอายุ และทุกเขตในกรุงเทพฯ

 

“ประวัติการได้รับวัคซีนของผู้เสียชีวิต ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2564 – 6 ม.ค.2565 จำนวน 6,905 ราย พบว่า เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ 4,266 ราย คิดเป็น ร้อยละ 61.8 ได้รับวัคซีนครบโดส 940 ราย คิดเป็น ร้อยละ 13.6 ซึ่งค่อนข้างต่ำ และไม่ระบุ 1,699 ราย คิดเป็น ร้อยละ 24.8″นพ.สุทัศน์ กล่าว

 

ผู้อำนวยการ สปคม.กล่าวว่า จุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมาก คือ 1.พื้นที่เสี่ยง /แหล่งชุมชนหมายถึงสถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับ และบาร์ที่ขออนุญาตปรับปรุงเป็นร้านอาหารปกติ ทำให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ถึงเวลา 23.00 น. แม้จะจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเวลา 21.00 น. แต่ด้วยสภาพสถานที่ที่อากาศปิด การวางรูปแบบไม่ได้ระบายอากาศที่ดีทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึง หอพักที่มีลักษณะแออัด เช่น หอพักนักศึกษา แฟลตตำรวจ ฯลฯ จึงอยากเน้นย้ำให้ประชาชนเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ป้องกันตัวและปฏิบัติตัวตามมาตรการที่ สธ.แนะนำอย่างเคร่งครัด และ 2. สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน แนะนำให้ตรวจคัดกรองตัวเอง ถ้าป่วยให้แยกตัวเองออกจากผู้ใกล้ชิดและเข้ารับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุด

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ผลการสอบสวนการระบาดในกรุงเทพฯ ที่พบมาก คือ 1.กลุ่มร้านอาหารกึ่งปิดที่ปรับจากร้านอาหารประเภทผับ บาร์ โดยแต่ละกลุ่มพบมากกว่า 5 รายขึ้นไป คำแนะนำประชาชนที่จะเข้าใช้บริการ ให้ดูความแออัดของร้าน สัญลักษณ์ชา พลัส (SHA Plus) หรือโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid Free Setting) ทั้งนี้ หากพบร้านเหล่านี้ปฏิบัติหลีกเลี่ยงมาตรการ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขต และ สปคม. ซึ่งได้มีการหารืออยู่ว่าหากพบการระบาด อาจจะมีการถอนการรับรองมาตรฐานการเปิดบริการ 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากชุมชนหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ยังไม่ใช่การรับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย โดยข้อมูลตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2564 พบจำนวน 47 ราย ในโรงพยาบาล (รพ.) รัฐ 32 ราย และ รพ.เอกชน 15 ราย โดยทั้งหมดฉีดเข็มที่ 3 แล้ว และบางคนฉีดเข็มที่ 4 แล้ว จึงอยากขอย้ำว่าแม้ว่าฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ แต่ป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทั้ง 47 ราย ไม่มีอาการรุนแรง รวมถึงไม่มีการปิดแผนกของบุคลากรที่ติดเชื้อ ไม่น่ากังวล ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้เพิ่มความระมัดระวังเคร่งครัด เรื่องป้องกันควบคุมโรคในสถานพยาบาลให้มากขึ้น โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วยที่มารับการรักษา และ 3.กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า สรุปมาตรการด้านสาธารณสุขและคำแนะนำประชาชน คือ 1.เลี่ยงเข้าสถานที่เสี่ยง ได้แก่ สถานที่ระบาดอากาศไม่ดี สถานที่แออัด งดร่วมกิจกรรมเป็นเวลานาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัย เช่น วงเหล้า 2.ชะลอการเดินทาง หากไม่จำเป็น 3.หากกลับจากต่างจังหวัดให้เฝ้าสังเกตอาการตนเอง อย่างน้อย 14 วัน และทำงานที่บ้าน 4.ตรวจ ATK หากสงสัยและเมื่อพบการติดเชื้อโทร. 1330 สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด หากพบผู้ติดเชื้อให้ทำบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble&Seal) ในโรงงาน

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงช่วงอายุของเด็กที่พบการติดเชื้อมากที่สุดและอาการที่พบ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อในกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดช่วงอายุ เด็กไม่ได้ลักษณะการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ ส่วนอาการเด็กจะพบมากในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นตามนโยบายของ สธ.ที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน

 

“ข่าววัคซีนในเด็ก 5-12 ปี เข้าใจว่า ภายในวันนี้มีการประชุมวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็ก ซึ่งจะมีความคืบหน้าเป็นระยะ ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก คาดว่าจะเข้ามาเร็วๆ นี้” นพ.สุทัศน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง