รีเซต

สรุปสาเหตุ การเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ต้องรู้!

สรุปสาเหตุ การเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ต้องรู้!
Ingonn
9 กันยายน 2564 ( 10:54 )
884
สรุปสาเหตุ การเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ต้องรู้!

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นวัคซีนหลักของคนไทย ซึ่งมีคนไทยได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าจำนวนกว่า 15,419,603 โดส เลยทีเดียว แต่ล่าสุดทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้พบ ผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพียง 6 วันเท่านั้น โดยเสียชีวิตจาก ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือที่รู้จักว่า ภาวะ VITT แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ต้องเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

 

 

การเสียชีวิตจากวัคซีน เป็นอีกสาเหตุที่เราควรศึกษาไว้ โดยเฉพาะเสียชีวิตจากวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของคนไทย 

 

 

 

สรุปสาเหตุการเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า”


1.กรมควบคุมโรค พบ1 ราย ที่สรุปว่าเป็นการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

 

 

2.จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 15,419,603 โดส ซึ่งที่จริง มีผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 5 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 26 -76 ปี อยู่ใน กทม. 3 ราย นนทบุรี 1 ราย และนราธิวาส 1 ราย รักษาหายเป็นปกติ 2 ราย เสียชีวิต 3 ราย แต่สรุปว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2 ราย 1 รายเกี่ยวข้อง

 

 

3.ผู้ที่เสียชีวิตจากวัคซีนนั้นเป็นหญิงอายุ 28 ปี จ.นนทบุรี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนอยู่แล้ว หลังฉีดแอสตร้าฯ 6 วัน มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ หรือที่เรียกว่า ภาวะ VITT   ผู้เสียชีวิตเข้ามารับการรักษาช้า จึงทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

 

4.ภาวะ VITT  คือ การเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ ที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีนอยู่ 2 ชนิดคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และวัคซีนจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) เกิดจากองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ

 

 

5.ส่วนใหญ่พบในผู้หญิง อาการมักจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่สามารถพบได้ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 30 วันหลังจากฉีดวัคซีน อาการขึ้นอยู่กับว่าลิ่มเลือดอุดตันที่อวัยวะใด โดยส่วนมากจะพบที่หลอดเลือดดำของสมอง

 

 

6.ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุดตันตรงไหนก็ทำให้เกิดอาการตรงนั้น เช่น อุดตันที่ขาก็ทำให้เกิดแขนขาอ่อนแรง อุดตันที่สมองก็อัมพาต ปาก หรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดท้องรุนแรง อาการไม่ได้ตรงไปตรงมา

 

 

7.ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะเกิดพร้อมๆ ลักษณะเป็นจุดเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก อาจจะมีจ้ำช้ำ จุดเลือดออกเล็กๆ เป็นอาการที่พบน้อย

 

 

8.อาการเริ่มต้นอาจจะมีมึนศีรษะ ปวดศีรษะ และปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แขนขาอ่อนแรง และชักได้ รองลงมาจะมีลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้องก็จะมีอาการปวดท้องตอนแรกอาจจะอาการไม่มาก ถ้าทิ้งไว้ก็อาจจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจจำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล

 

 

9.หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ในระยะ 4-30 วัน หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ แจ้งประวัติการฉีดวัคซีนให้แพทย์ทราบ เพราะการตรวจบางอย่างต้องส่งต่อรพ.อื่น หากไม่ทราบประวัติเหล่านี้ หรือไม่นึกถึงมาก่อนจะทำให้พลาดโอกาสในการรักษา ซึ่งภาวะนี้รักษาหายได้

 

 

10.เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษ ถือว่าอัตราการเกิดในประเทศไทยต่ำกว่ากว่า 30 เท่า

 

 

 

จากฐานข้อมูลของ AEFI-DDC กรมควบคุมโรค วันที่ 5 ก.ย. 64 พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2,734 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเป็นไข้ 26.52% รองลงมามีอาการปวดศรีษะ 24.98% มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง 6 ราย คิดเป็น 0.04/แสนโดส และมีรายงานผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ (VITT) 5 ราย คิดเป็น 0.03/แสนโดส

 

 

 

ประชาชนหลังจากฉีดวัคซีนแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, แขนขาอ่อนแรง, ปากหรือหน้าเบี้ยว, เจ็บหน้าอก, หายใจติดขัด, ขาบวมเจ็บ, ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออก ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และควรนำบัตรนัดหรือ บัตรฉีดวัคซีนไปด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้

 

 

 

อย่างไรก็ตามภาวะ VITT สามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีนต่อไป

 

 


ต่างประเทศยังใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ไหม?

 

ทั่วโลกมีการอนุมัติใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่มากกว่า 42 ประเทศ แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ทำให้หลายประเทศ เริ่มระวังการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว

 

 

ประเทศที่ระงับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาจนถึงขณะนี้ มีแล้วอย่างน้อย 18 ประเทศ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ บัลแกเรีย คีอาร์คองโก โรมาเนีย ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ค นอร์เวย์ ออสเตรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และ ลักเซมเบิร์ก

 

 

แม้จะมีหลายประเทศทยอยประกาศระงับใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าชั่วคราว แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่เดินหน้าใช้วัคซีนชนิดนี้ เช่น สหราชอาณาจักรที่ให้เหตุผลว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ไม่ได้บ่งชี้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เลือดแข็งตัว เช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลีย ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งเลือกใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและเป็นประเทศที่มีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศ ยืนยันจะเดินหน้าใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อ  

 

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังยืนยันว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ยังสามารถป้องกันโควิดและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่ละประเทศไม่ควรระงับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเพราะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือ ภาวะเลือดแข็งตัว

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค , คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,TNN 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง