เลื่อนถกบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต "ภูมิธรรม" แจงรอความเห็น จาก ป.ป.ช.
ภูมิธรรม เผย เลื่อนประชุม "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" นัดแรกของปี เหตุต้องรอความเห็น จาก ป.ป.ช. มาเป็นส่วนประกอบเพิ่มเดิม
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในวันนี้ได้แจ้งขอเลื่อนการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 1 / 2567 จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนเองเป็นประธาน เนื่องจาก ภายหลังหลังจากที่รัฐบาลได้รับคำตอบจากสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และในวันนี้ทราบว่ากำลังมีหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้ามาด้วย
ดังนั้นจึงจะต้องนำเรื่องนี้เข้าประชุมในคราวเดียวกันโดยจะต้องดูว่ามีข้อเสนอแนะ หรือมาตรการต่างๆที่จะไปด้วยกันกับนโยบายหรือไม่ หรือมีอะไรที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับฟังเพื่อไม่ให้เกิดการติดขัดทางกฎหมาย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดีรอนายกรัฐมนตรีกลับจากการประชุม เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม ก่อน และอาจจะต้องใช้เวลา1-2สัปดาห์ซึ่งก็จะอยู่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดระนอง
นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ ภายใต้กรอบกฎหมาย ส่วนงบจะได้จากส่วนไหนก็ต้องดู นโยบายนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆแต่ได้มีการหารือกันจนถูกบรรจุเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม พร้อมรับฟังจากทุกคนเพื่อให้เกิดความสบายใจและมีข้อมูลครบถ้วนรอบด้านให้มากที่สุด โดยอย่าใช้บางประเด็นขวางทุกเรื่อง ทำให้เดินไปไม่ได้ โดยรัฐบาลนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหาขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือ
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ระบุกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet เตรียมประชุมเพื่อพิจารณายุติการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว และหันใช้งบประมาณปี 2568 แทน และลดวงเงินเหลือเพียง 3 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง โดยรัฐบาลยังมีความพยายามจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ต่อไป
ทั้งนี้ กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งความเห็นตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง ซึ่งประเด็นสำคัญในหนังสือตอบกลับความเห็นของกฤษฎีกา คือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ซึ่งต้องมีความจำเป็นดำเนินการโดยเร่งด่วน และต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าว หลายฝ่ายมองว่า จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะปิดประตูไม่ให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ได้
ภาพจาก Phumtham Wechayachai / Getty Images