รีเซต

สภาฯจ่อเรียก 11 บริษัทแจงกระบวนการส่งออก “ปลาหมอคางดำ”

สภาฯจ่อเรียก 11 บริษัทแจงกระบวนการส่งออก “ปลาหมอคางดำ”
TNN ช่อง16
1 สิงหาคม 2567 ( 19:09 )
22
สภาฯจ่อเรียก 11 บริษัทแจงกระบวนการส่งออก “ปลาหมอคางดำ”

ที่รัฐสภา   นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังประชุมพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่าได้เชิญ กรมบัญชีกลางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือปัญหาข้อกฎหมาย ในเรื่องที่กรมประมงได้ทำหนังสือหารือไป ซึ่ง ได้แจ้งว่าตอบหนังสือลงวันที่วันนี้ 1 สิงหาคม 2567ว่า ตามแนวทางปฏิบัติสามารถใช้เงิน เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ โดยจะตอบเป็นหนังสือถึงกรมประมง อย่างเป็นทางการวันนี้ ว่าสามารถใช้เงินทดลองราชการเพื่อ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ 2563 ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม


นอกจากนี้กรรมาธิการได้เชิญ ตัวแทนจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน)หรือ CPF เข้าชี้แจง โดยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF และคณะเข้าชี้แจงว่า ได้ดำเนินการทดลองนำเข้าปลาหมอคางดำ เป็นลูกปลาขนาดเล็กจำนวน 2,000 ตัวเข้ามา เมื่อปี 2563 จากประเทศกานา และเมื่อมาถึงสนามบินตายไป 1,400 ตัวเหลือ 600 ตัว นำไปอยู่ในบ่อพักเลี้ยงปลา ที่เป็นบ่อปูนซึ่งก่อสร้างไว้ และลูกปลาทยอยตายไปเรื่อยๆจน เหลือ 50 ตัว และได้นำส่งกรมประมงทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยที่ทำเป็นหนังสือยืนยัน กระบวนการทั้งหมด


นายฐากร กล่าวว่า กรรมาธิการฯมีมติ ที่จะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ว่าส่วนของข่าวที่ออกไปว่ามี 11 บริษัท ที่ได้มีการส่งออกปลาหมอคางดำ ออกไปใน 17 ประเทศเมื่อปี 2556 - 2559 อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลียนั้น 11 บริษัทดังกล่าวนำปลามาจากไหน ซึ่งสัปดาห์หน้ากรรมาธิการฯ จะเชิญอธิบดีกรมประมง มาชี้แจงอีกครั้งรวมถึงตัวแทน 11 บริษัทมาชี้แจงว่า ปลาที่ส่งออกนั้นนำเข้ามาอย่างไร โดยเบื้องต้นกรมประมงชี้แจงว่ามีการลงชื่อกรอกในเอกสาร ว่าเป็นชื่อของปลาหมอคางดำ ดังนั้นสิ่งไหนที่เป็นข้อเท็จจริงและเอกสารจะพิจารณาตามนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับใครในการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นข้อเท็จจริงทางเอกสารที่หากได้ข้อสรุปก็จะส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ที่กำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้


นายฐากร กล่าวว่า ต้องการหาคำตอบว่า 11 บริษัท ได้ปลาหมอคางดำมาจากบริษัทใด เพราะทั้ง 11 บริษัทไม่ได้นำปลาหมอคางดำเข้ามาแต่นำส่งออกได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องหาต้นตอตรงนี้ ซึ่งเอกสารต้นทางเมื่อปี 2553 ที่ CPF บอกว่านำเข้ามาและทำลายทั้งหมดแล้วหรือไม่ โดย CPF ได้บอก 4 ขั้นตอน ว่า กรมประมง ได้ตัดครีบปลา เพื่อนำส่ง ส่วนซากของปลา เป็นเรื่องที่กรมประมงต้องไปตรวจสอบ ขณะที่ บ่อที่เลี้ยง ที่ CPF บอกว่าเป็นบ่อปูน กรรมาธิการจึงขอหลักฐาน การก่อสร้าง ที่ต้องได้รับอนุญาตจากอบต.ยี่สาร และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 11 บริษัทนำส่งออกไปนั้น มาจากที่ใด ส่งออกไปเป็นการลงชื่อผิดหรือไม่ เพราะกรมประมงยืนยันแจ้งว่ามีการกรอกชื่อผิด ซึ่งปลายทางประเทศต่างๆที่รับปลาแบบนี้ไปได้อย่างไร เพราะจะต้องมี tor ทั้งหมดในการรับ กรรมาธิการจึงจะสอบข้อเท็จจริง 


ส่วน มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนนายฐากร กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแถลงมาตรการไปแล้ว 7 ข้อ ซึ่งทาง CPF ยืนยันว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลเพิ่มเติม จะใช้กรอบวงเงินประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งทาง CPF จะรับไปพิจารณาเพิ่มเติม ในการจะช่วยเหลือรัฐบาล นอกจาก 5 โครงการที่เคยเสนอมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่กรมประมงจะใช้เงินทดลองราชการเยียวยาประชาชนในส่วนนี้ ซึ่งหนังสือทางกรมบัญชีกลางบอกว่า เป็นไปตามระเบียบใช้เงินทดลองราชการ จึงเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีของประชาชน แต่จะต้องสาวไปถึงต้นตอกระบวนการต่างๆว่ามันมาอย่างไร ซึ่งกรรมาธิการฯจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดก่อนจะนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


ที่มาข่าว:TNN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง