รีเซต

3 แหล่งท่องเที่ยวไทย ติด TOP 100 “แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก” ประจำปี 2022

3 แหล่งท่องเที่ยวไทย ติด TOP 100 “แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก” ประจำปี 2022
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2565 ( 15:18 )
86
3 แหล่งท่องเที่ยวไทย ติด TOP 100 “แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก” ประจำปี 2022

โฆษกรัฐบาลเผย แหล่งท่องเที่ยวไทย 3 แห่งได้รับเลือกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2022


นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เข้าร่วมพิธีและรับมอบประกาศแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2022 (Top 100 Destination Sustainability Stories 2022) ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ 

งานดังกล่าวจัดโดย Green Destinations Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรระดับโลก ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวจากทั่วโลก 

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวไทยที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้ ประกอบด้วย 


1) เกาะหมาก จ.ตราด 

ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) แห่งแรกของไทย สำหรับ "เกาะหมาก" เป็นเกาะขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร สัมผัสเสน่ห์ของเกาะหมากจากทิวมะพร้าวที่เรียงรายไปตามแนวหาดขาวเนียนละเอียดเคียงข้างน้ำทะเลใส ที่สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย 

ไม่ว่าจะเป็นบริเวณอ่าวตานิด อ่าวไผ่ อ่าวโปร่ง อ่าวผาด อ่าวแดง นอกจากนี้บนเกาะยังมีวิถีชาวบ้านอันสงบ เรียบง่าย ซึ่งยังคงดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา ประมงพื้นบ้าน อีกทั้งบริเวณชายฝั่งรอบเกาะ และเกาะใกล้เคียงยังมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ จึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น 

การเดินทางไปเกาะหมาก เที่ยวไป มีเรือเร็วออกจากท่าเรืออนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพร ฯ ค่าโดยสารคนละ 450 บาท/เที่ยว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลและตารางเรือ เรือลีลาวดี โทร. 08 1899 3006/ 09 3394 9324 เรือปาหนัน โทร. 08 7614 7641 เรือเอ็มมารีน โทร. 09 0394 9986


2) บ้านห้วยปูแกง จ.แม่ฮ่องสอน

ห้วยปูแกง เป็นคำเพี้ยนที่มาจากคำว่า “เฮกุเกแล” เป็นภาษากะเหรี่ยงแดง ตามความเป็นมากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงที่อาศัยอยู่มาก่อน ได้เข้าไปทำไร่หมุนเวียนบริเวณหัวลำห้วย มีการเรียกกันติดปากว่า “เฮกุเกแล” แปลว่า “ไร่ในห้วย” 

ต่อมาจึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ โดยให้ใกล้เคียงกับคำว่า เฮกุเกแล เป็น “ห้วยปูแกง” จึงใช้ชื่อหมู่บ้านนี้มาจนถึงปัจจุบัน ประชากรหมู่บ้านห้วยปูแกง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 220 คน จำนวน 56 หลังคาเรือนประกอบด้วย 5 ชนเผ่า 

ได้แก่ กะยัน หรือ กะเหรี่ยงคอยาว, กะยอ หรือ กะเหรี่ยงหูใหญ่, กะยา หรือ กะเหรี่ยงแดง, ปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงขาว, และ ไต หรือ ไทใหญ่ ส่วนรายได้ของคนในหมู่บ้านห้วยปูแกง 

ส่วนใหญ่มีรายได้จากการขายของที่ระลึก ซึ่งมาจากการเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์ หาของป่า และการเกษตร 



3) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จ.ชัยนาท 

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองสาปยา เป็นเครือข่ายภาคการบริการโดยชุมชนคุณธรรมวัดสรรพยาวัฒนารามและชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยา เริ่มต้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 

แหล่งท่องเที่ยวในย่านชุมชนนี้ บุคลากรด้านการท่องเที่ยว และประชาชนในชุมชน ได้รับการพัฒนาจากหลายหน่วยงาน มีความพร้อมจึงได้ร่วมกันจัดงานถนนคนเดิน โดยใช้แนวคิด "ตลาดกรีนดี” (Green Market) งดใช้โฟม และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้วัสดุ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในชื่องานว่า "เที่ยววิถีชุมชนคนสาปยา” ตอน ย้อนรอยโรงพักบอกรักสรรพยา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี 

เดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดชัยนาท ให้จัดกิจกรรม Night Market สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ สัปดาห์แรกของทุกเดือน โดยใช้แนวคิดตลาดกรีนดีเช่นเดิม และในปีงบประมาณ 2562 เทศบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลักหมุนเวียนตามเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละเดือนตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว โดยไม่ซ้ำกันจนครบ 12 เดือน 

จากเดิมที่ทางวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว เมืองสาปยา ได้สืบสาน ส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าเพิ่มทางสังคม และเศรษฐกิจ โดยบูรณาการร่วมกับ องค์ความรู้ด้านการจัดการ "แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว” เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ 

สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รากเง้าของชุมชนตามแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรมบนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) 

ทำให้กิจกรรมตลาดกรีนดีต้องหยุดชะงักลง ชาวชุมชนจึงร่วมกันเปิดช่องทางในการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน จากวิถีท้องถิ่นสู่วิถี New Normal ตลาดสีเขียว ชุมชนสรรพยาสู่ตลาดออนไลน์แบบ E-commerce ซึ่งมีสินค้าชุมชนมากมายให้เลือกซื้อหลายประเภท ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร สินค้าสุขภาพ เป็นต้น



ทั้งสองแห่งได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือสมาชิก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อนำมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ควบคู่กับการส่งเสริมสภาวะแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ การรับรางวัลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลในไทยแล้ว ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ต่อนานาชาติว่า ไทยให้ความสำคัญกับแนวคิดเพื่อ "รักษาและคงความสมดุล" แก่สิ่งแวดล้อม.


ข้อมูลจาก ไทยคู่ฟ้า

ภาพปกโดย ททท. สำนักงานตราด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง