ตู้บุญเติม ประกาศปันผล 0.3 บาท เปิดตัว 'Mini ATM'
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) ผู้ให้บริการ ‘ตู้บุญเติม’ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังของปี 2563 อีกหุ้นละ 0.30 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายจากกำไรสุทธิงวดผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563 เมื่อรวมกับงวดครึ่งแรกของปีที่จ่ายไปแล้วหุ้นละ 0.30 บาท ส่งผลให้ปี 2563 บริษัทจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 8.4% จากราคาหุ้นล่าสุดของบริษัทฯ ที่ซื้อขายที่ระดับ 7.10 บาท/หุ้น
ทั้งนี้ ถือเป็นการจ่ายปันผลที่สูงกว่านโยบายที่กำหนดไว้ว่าจะจ่ายไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98% ของกำไรสุทธิ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 21 เมษายน 2564 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (Record Date) ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2564
สำหรับผลดำเนินงานงวดปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 464.06 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.61 บาท ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง 2 ระลอกทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมลดลงส่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐช่วยเหลือค่าโทร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฟรีในไตรมาส 2 แต่กระทบระยะสั้น จึงทำให้มูลค่าเติมเงินรวมของบริษัทลดลง
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังสามารถมีกำไรต่อเนื่อง เพราะตู้บุญเติมมีบริการที่ครบวงจรทั้งเติม-จ่าย-ฝาก-โอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ โดยปี 2563 มีปริมาณธุรกรรมในธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ จำนวน 1.5 ล้านรายการ/วัน
ขณะที่กลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending Business) ที่เป็นบริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนรายการโอนเงินล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 1.9 ล้านรายการ/เดือน 19 ล้านรายการ/ปี และยังคงเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางของ FSMART ปี 2564 บริษัทฯ ยังเดินหน้าธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ 2.ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร และ 3.ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดการใช้บริการผ่าน ‘ตู้บุญเติม’ ให้มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 20% จากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทมีการเปิดช่องทางและบริการใหม่ ภายใต้งบลงทุน 500 ล้านบาท
อีกทั้งเพิ่มตู้รูปแบบใหม่อีก 5,000 ตู้ในปีนี้ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดและเข้าไปทดแทนตู้ของคู่แข่งที่มีบริการน้อยกว่า และแนวโน้มจำนวนตู้ที่ลดลงในภาพรวมของอุตสาหกรรม ทั้งยังดันแคมเปญ ‘บุญเติม รีวอร์ด’ สร้างการรับรู้ รักษาลูกค้า เพิ่มจำนวนการใช้งานขณะเดียวกันบริหารจัดการตู้บุญเติม เน้นทำเลคุณภาพ เพื่อเพิ่มยอดเติมเงินและชำระเงิน
นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรตั้งเป้าเปิดตัวตู้ ‘Mini ATM’ ที่สามารถถอนเงินสดจากตู้ได้ อีกทั้งเดินหน้าเพิ่มบริการธุรกิจสินเชื่อด้วยการหาพันธมิตรใหม่และใช้ตู้ Mini ATM ปล่อยสินเชื่อ นอกเหนือจากบริการฝาก โอน จ่าย เปิดบัญชี และบริการพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจะเข้าไปเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มทั้ง Bank และ Non-bank ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ตู้บุญเติมมีบริการทางการเงินครบวงจรและเป็นธนาคารชุมชนทดแทนสาขาและตู้ ATM ที่ลดลงของธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งเพิ่มฐานลูกค้าชาวต่างชาติและบริการโอนเงินข้ามประเทศ
“เชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดการทำรายการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ในส่วนของธุรกิจ Banking Agent & Lending Business จะเติบโตได้ประมาณ 30% จากปีก่อน และจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจาก Ecosystem ของบริการทางการเงินที่ครบวงจร” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า บริษัทเตรียมเปิดตัว “คาเฟ่อัตโนมัติ”ภายใต้แบรนด์ ‘เต่าบิน’ ชูนวัตกรรมเครื่องชงเครื่องดื่มคุณภาพพรีเมี่ยมกว่า 80 เมนู ด้วยเมล็ดกาแฟและวัตถุดิบคุณภาพสูง จุดเด่นคือ สามารถควบคุมรสชาติได้มาตรฐานเดียวกันทุกแก้ว ชงได้ทั้งเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ในราคาที่คุ้มค่า และบริการ 24 ชม. ในทำเลคุณภาพ คาดว่าจะเปิดตัวเต็มรูปแบบในปีนี้ โดยมีเป้าหมายขยายจุดติดตั้ง 20,000 เครื่อง ภายใน 3 ปี คาดขาย 600,000 แก้ว/วัน เสริมความแข็งแกร่งการให้บริการของบริษัทให้มากขึ้น และทุกตู้มีบริการของตู้บุญเติม ซึ่งบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม