นายกฯ เผยไทยพร้อมร่วมมือทุกพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน
ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกพันธมิตรขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ความร่วมมือทางเทคนิค ยกระดับกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค และการมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคน
วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) เวลา 15.25 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดกิจกรรมของผู้นำ (Leaders’ segment) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งปฏิญญานี้เป็นรากฐานสำคัญสำหรับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และรัฐบาลยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าสากลสําหรับทุกคนทั่วโลก และตลอดเวลา 75 ปีที่ผ่านมา UDHR ยังคงเป็นเอกสารสำคัญที่เป็นแนวทางในการตอบสนองต่อความท้าทายที่ทั่วโลกกําลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ทําให้ประชากรโลกส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องใช้โอกาสนี้เดินหน้าขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและลูกหลานในอนาคต พร้อมเสนอแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนี้
ประการแรก การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาปัตยกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับกลุ่มที่เปราะบาง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นทางการเมือง การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ครอบคลุม เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดมาตรการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และนําไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมมองว่า การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายที่มากเกินไปในเวทีโลกจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลไกความร่วมมือแบบพหุภาคีอย่างปฏิญญานี้ จะช่วยให้เกิดการรับฟังและเข้าถึงมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น
ประการที่สอง การสร้างความพร้อมให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(United Nations Human Rights Council: UNHRC) และกลไกสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีต่อพัฒนาการที่ UNHRC ได้รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และมีความยั่งยืน รวมถึงการให้ความสำคัญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิทธิมนุษยชน โดยข้อห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการได้รับสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการดำรงชีวิตและความอยู่รอดของประเทศ และประชาชนอีกด้วย
ประการที่สาม การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชน โดยเทคโนโลยีสามารถใช้เพื่อคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สิทธิในการศึกษาและสิทธิในการมีสุขภาพดี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ในขณะเดียวกันควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี โดยจำเป็นต้องสร้างอนาคตดิจิทัลที่เปิดกว้าง เสรี และปลอดภัย ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน
ประการที่สี่ การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเทคนิค และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลายครั้งที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดจากการขาดความรู้และความสามารถ ดังนั้น การแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สามารถช่วยปิดช่องว่างเหล่านั้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้ด้านสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น
ประการที่ห้า บทบาทและความสำคัญของกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญของกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค ซึ่งสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าบุคคลทุกคนจะได้รับความคุ้มครอง รวมถึงต้องให้ความสำคัญและความจำเป็นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ และกลไกระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นด้วย
ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีมองว่า “ทุกคนสามารถสร้างความแตกต่างได้ everyone can make a difference” การมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญ จึงขอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน แม้จะมีความแตกต่างระหว่างกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีประกาศว่า ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2025-2027 โดยไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกพันธมิตร และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน