รีเซต

รวบบริษัท "ศูนย์เหรียญ" ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 118 ตัน

รวบบริษัท "ศูนย์เหรียญ" ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 118 ตัน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2568 ( 16:35 )
6

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย หรือ “ทีมสุดซอย” กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ มูลนิธิบูรณะนิเวศ  ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ของ บริษัท เอ็มเอชซี กรุ้ป ฟรีโซน จำกัด ตามที่ได้รับเบาะแสแจ้งว่า อาจจะมีการนำเข้าเศษอลูมิเนียมปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต 

นางสาวฐิติภัสร์ เปิดเผยผลการตรวจค้นวา  บริษัทฯ ดังกล่าว นำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ สำแดงว่าเป็นการนำเข้าเศษอลูมิเนียม (Mix Metal Scrap) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ทุกตู้มีการปะปนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำหนักกว่า 118 ตัน ที่นับเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเข้าข่ายเป็นของเสียเคมีวัตถุ (Chemical Wastes) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ และต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่อนุสัญญาบาเซลกำหนด รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานขัดต่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. 2563 การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน และยังไม่ได้รับความยินยอมจากประเทศปลายทาง ถือเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามแดนแบบผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ 


“ของกลางที่ยึดได้ครั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งให้ส่งกลับประเทศต้นทางทั้งหมดภายใน 30 วัน และกรมศุลกากรดำเนินคดีในข้อหาลักลอบนำเข้าของเสียวัตถุอันตราย” นางสาวฐิติภัสร์ ระบุ 


นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า จากนั้นทีมสุดซอยได้ขยายผลเข้าตรวจค้น บริษัท เอ็มเอชซี กรุ้ป ฟรีโซน จำกัด ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ภายในพื้นที่มีโกดังจำนวน 4 หลัง และอยู่ระหว่างกำลังก่อสร้างโกดังเพิ่มอีก 2 หลัง แต่ละโกดังแบ่งพื้นที่สำหรับทำคลังพักสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อรอส่งต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแบ่งพื้นที่ตั้งเป็นโรงงาน 4 โรงงาน ที่มีการแจ้งประกอบกิจการหลากหลายประเภท ทั้งโรงงานผลิตอลูมิเนียมระบายความร้อน โรงงานฉีดพลาสติกขึ้นรูปบานพับ โรงงานบดย่อยและรีดแผ่นยางส่งออก ตรวจสอบพบมีใบอนุญาตโรงงาน 3 ใบ 3 โกดัง ออกเมื่อช่วงต้นปี 2567 จากการตรวจค้นโดยละเอียดพบมีการขยายเครื่องจักรเกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 1 โรงงาน และมีการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 3 โรงงาน เจ้าหน้าที่จึงมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการและดำเนินคดีตามกฎหมายโรงงานทันที 


"นอกจากการประกอบกิจการ และขยายกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตที่เป็นปัญหาแล้ว ยังพบว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดมีการนำเข้าเครื่องจักร วัสดุ อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก ยาง ทุกอย่างจากต่างประเทศ เมื่อผลิตเสร็จแล้วรอส่งออกต่างประเทศหรือส่งให้โรงงานอื่นที่อยู่ในเขตปลอดอากรเช่นกัน นับเป็นการประกอบกิจการศูนย์เหรียญอย่างชัดเจน จึงต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดตามนโยบายของ รัฐมนตรีเอกนัฏ ในปราบปรามอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างเร่งด่วนและจริงจัง" นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว 


นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในการตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) เพื่อจัดการการกระทำที่ผิดกฎหมาย และสกัดกั้นการนำเข้า/ครอบครองวัตถุอันตราย ที่ถือเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุอันตรายอื่นๆ 


“กระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องทบทวนมาตรการ การกำกับดูแล รวมถึงมาตรการการอนุญาตให้ตั้งโรงงานประกอบกิจการในพื้นที่ปลอดอากร หรือฟรีโซนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการปราบปรามกวาดล้างผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และนำขบวนการเหล่านี้มาลงโทษตามกฎหมายต่อไป” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง