รีเซต

รปภ.ช็อก ตกงานฟ้าผ่า หลังถามหาค่าแรงวันหยุดสงกรานต์

รปภ.ช็อก ตกงานฟ้าผ่า หลังถามหาค่าแรงวันหยุดสงกรานต์
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2564 ( 11:53 )
416

วันนี้ (6 เม.ย.64) กลายเป็นเรื่องราวที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลังจากเพจเฟซบุ๊ก "อีซ้อขยี้ข่าว" โพสต์ข้อความสนทนาของ รปภ.คนหนึ่ง ที่สอบถามเรื่องค่าแรงในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ พร้อมระบุข้อความว่า "มีพนักงานรปภ.คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยจึงสอบถามค่าแรงของตัวเองในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทางฝั่งนายจ้างจบด้วยการถีบพนักงานออกจากกลุ่มให้พ้นสภาพ เพิ่งรู้ว่าต้องผ่านงาน 120 วันก่อนถึงจะได้เพิ่ม"

ต่อมาเพจ อีซ้อขยี้ข่าว ได้มาคอมเมนต์เพิ่มเติมว่า "เรื่องจริงที่กระทรวงแรงงานไม่รู้ หลายที่บอกปฎิบัติตามกฎกระทรวงแรงงาน แต่พอเอาเข้าจริง แรงงานไทยหรือแรงงานทาส ตั้งกฎ บลาๆ สายคิดเป็นนาที แล้วแต่โปรของแต่ละที่ รับได้ไหม รับไม่ได้เชิญ HR เป็นใหญ่ มันจะมีใครจะรับไม่ได้ ชีวิตต้องใช้เงิน งานก็หายาก"

เรื่องนี้ ทนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดัง ให้ความเห็นว่า ในทางกฎหมายคำว่า ลูกจ้าง ไม่ได้แบ่งแยกประเภทว่าเป็นลูกจ้างทดลองงานหรือลูกจ้างประจำ ดังนั้นหากพูดถึงเรื่องของสิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือว่าลูกจ้างทดลองงาน เป็นลูกจ้าง มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมลูกจ้างประจำทุกประการ ดังนั้นค่าแรงวันสงกรานต์ ลูกจ้างที่ยังไม่ผ่านโปร มีสิทธิ์ที่จะได้เงินค่าแรง ค่าจ้าง

ส่วนกรณีเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน เหมือนเคส รปภ.ที่ถูกไล่ออกแบบนี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ว่า ลูกจ้างต้องไม่ทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 119 คือ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับ ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 7 วันทำงาน ประมาทเลินเล่อ และได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

หาก รปภ.คนนี้ถูกเลิกจ้างและไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวมา มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าตกใจในการถูกเลิกจ้าง 30 วัน 

ดังนี้ หากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับค่าตกใจ และค่าแรงตามกฎหมายกำหนด สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน โดยไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง