จับตา! ประธานชมรมแพทย์ชนบทส่ง จ.ม.ด่วนถึง 6 องค์กร สอบทุจริตการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด
เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งจดหมายด่วนจาก จ.สงขลา ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี อธิบดีกรมการแพทย์ ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ( อภ.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีส่อทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น ของ อภ.โดยมีเอกสารหลักฐานการยื่นประมูล และแนบสำเนาข้อสังเกต 7 ประเด็นจากการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ของ อภ.อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิกให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา
นายแพทย์สุภัทรกล่าวว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด มีการตั้งข้อสังเกตที่ส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากบริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดยบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560
“ระเบียบข้อ 74 กำหนดให้คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือกจัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ และเมื่อถึงกำหนดวันเวลาการรับซองข้อเสนอ ให้รับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเฉพาะรายที่คณะกรรมการได้มีหนังสือเชิญชวนเท่านั้น
“มีความชัดเจนโดย อภ.แถลงว่าได้ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ประกอบการ 24 บริษัท เป็นผู้จัดจำหน่าย 19 บริษัท หลังการมีการตรวจสอบคุณภาพ ผู้สามารถเปิดซองแข่งขันได้ 16 บริษัท และมีการเปิดซองต่อหน้าผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด มีการบันทึกคลิปไว้ทั้งหมด และหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับเชิญให้ไปยื่นซองคือบริษัทออสท์แลนด์ฯ โดยรายชื่อ 24 รายชื่อที่ทางองค์การเภสัชกรรมไม่ได้เชิญบริษัทเวิลด์เมดิคอลฯเข้าร่วมการยื่นซองด้วย” นายแพทย์สุภัทรกล่าว
ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวอีกว่า เมื่อมีการเปิดซองการประมูล อภ.ประกาศชัดเจนว่าผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประมูล คือบริษัทออสท์แลนด์ฯ ขณะที่สาธารณชนที่ติดตามรับรู้ว่าบริษัทออสท์แลนด์ฯคือผู้ชนะการประมูล โดยมีบริษัทบริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายและเป็นผู้ลงทุนให้ แต่ไม่ปรากฏข่าวว่าเป็นผู้ยื่นซองประมูลแต่อย่างใด ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 อภ.ได้ลงนามในสัญญากับบริษัท เวิลด์เมดิคอลฯโดยมีข้อครหาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย จากนั้นวันที่ 2 กันยายน 2564 อภ.ชี้แจงว่าบริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ยื่นซองราคาชุดตรวจ ATK โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากบริษัทออสท์แลนด์ฯ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะในช่วงเวลาก่อนหน้านี้
“ในห้องที่ทำการเปิดซองประมูลแสดงกระดานเขียนผลการประมูลชัดเจนว่าลำดับที่ 11 คือบริษัทออสท์แลนด์ เมื่อเทียบเคียงกับลำดับที่ 9 คือ DKSH และลำดับที่ 10 ดีซีเอชออริก้า ทั้งคู่เป็นผู้แทนจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ Roche และ Abbott ตามลำดับ แล้วบนกระดานไม่ได้เขียนชื่อบริษัท Roche หรือ Abbott เพราะเจ้าหน้าที่เขียนชื่อผู้ที่มายื่นซองตามที่ได้รับเชิญตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งคือบริษัทออสท์แลนด์ฯ ไม่ใช่บริษัทเวิลด์เมดิคอลฯที่มากล่าวอ้างในภายหลัง” นายแพทย์สุภัทรกล่าว
นายแพทย์สุภัทรกล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงที่นำเสนอประกอบข้อสังเกตของ น.ส.รสนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่าการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด มีการลงนามในสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ชมรมแพทย์ชนบทหวังว่าทั้ง 6 องค์กร จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน หากเชื่อได้ว่ามีการทุจริต หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขอให้นำข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ขณะที่ สปสช.ในฐานะเจ้าของงบประมาณควรแจ้งต่อ อภ.และโรงพยาบาลราชวิถีให้สั่งยุติกระบวนการต่างๆ ในทันที และงดการจ่ายเงินตามสัญญาเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนให้น้อยที่สุด