สธ.จบเคสท่าขี้เหล็ก-แก๊งพยาบาล ASQ ยันไม่พบติดโควิด-19 เพิ่ม
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.จักรรัตน์ พิทยาวงอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternatives State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร และสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นเวลา10 วัน ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อใน 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิจิตร ราชบุรี สิงห์บุรี และ กรุงเทพฯ จึงขอยืนยันว่า จังหวัดเหล่านี้ปลอดภัยเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงไม่ต้องมีความกังวล ส่วนใน จ.เชียงราย ยังมีการพบผู้ป่วยอยู่แต่ในระยะหลังเป็นการพบผู้ป่วยที่เป็นคนไทยตกค้างในเมียนมา เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายและเข้าในสถานกักกันโรคท้องถิ่นของรัฐ (Local Quarantine) อย่างถูกต้อง โดยจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นระยะ ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของฝ่ายความมั่นคง ทหาร ความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้านและความร่วมมือของประชาชน
“ดังนั้น การรายงานจำนวนผู้ป่วยใน จ.เชียงราย ระยะหลังจะเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐทั้งหมด โดย จ.เชียงราย มีทั้งหมด 52 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ในสถานกักกันจำนวน 45 ราย เพราะฉะนั้นทุกจังหวัด และสถานการณ์ของประเทศไทยปลอดภัยแล้ว ทุกคนใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่เจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวดที่ด่านชายแดน และจะต้องมีการตรวจเชื้อผู้อยู่ในสถานกักกันโรคจนครบระยะฟักตัวของโรค” นพ.โอภาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้สถานการณ์ที่ชายแดน จ.ท่าขี้เหล็ก จะดีขึ้น แต่เรายังคงต้องให้ความร่วมมือต่ออีกระยะหนึ่ง เพราะประเทศไทยมีชายแดนที่ติดกับหลายประเทศ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ ที่มีคนลักลอบเข้าออกตามที่เห็นเป็นข่าว ดังนั้นความร่วมมือของประชาชนที่ช่วยแจ้งเบาะแสมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และขอเน้นย้ำว่า กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ 1.ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน 2.พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรเป็นเวลานานมากกว่า 5 นาที 3.มีการไอจามรดกัน และ 4.อยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเทและอยู่ร่วมกันมากกว่า 15 นาที ทั้งนี้การสวมใส่หน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19
ด้าน นพ.จักรรัตน์ กล่าวถึงความก้าวหน้าการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคทางเลือก (ASQ) ว่า แนวทางปฏิบัติเฝ้าระวังควบคุมโรคกรณีพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย สำหรับกลุ่มผู้สัมผัสในวงที่ 1 คือผู้มีความเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง จะต้องได้รับการกักกันโรคและตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จำนวน 3-4 ครั้ง กลุ่มผู้สัมผัสในวงที่ 2 คือผู้ที่สัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อ ในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่ำ แนะนำให้สังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และกลุ่มผู้สัมผัสวงที่ 3 เป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้สัมผัสผู้ป่วยในวงที่ 2 ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงลดลงอย่างมาก มีโอกาสติดเชื้อจากผู้สัมผัสวงแรกน้อยมาก จึงไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องตรวจหาเชื้อ
“โดยสรุปแล้วในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย ผลตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสวงที่ 1 พบผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งอยู่ในระหว่างการกักกันโรคและได้รายงานไปแล้ว ดังนั้น การสัมผัสเสี่ยงสูงไม่ได้แปลว่าทุกคนจะติดเชื้อ ส่วนรายอื่นๆ ให้ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 888 ราย ให้ผลลบทุกราย ดังนั้น ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 7 ราย ซึ่งมาจากการตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีความใกล้ชิดเพราะทำงานอยู่ในสถานกักกันโรคร่วมกัน และเป็นการสัมผัสกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์” นพ.จักรรัตน์ กล่าว