รีเซต

บูมเวทีเอเปก2022 เอกชนไทยเดินหน้าทำงานร่วมกับ 21 เขตเศรษฐกิจ

บูมเวทีเอเปก2022 เอกชนไทยเดินหน้าทำงานร่วมกับ 21 เขตเศรษฐกิจ
มติชน
17 พฤศจิกายน 2564 ( 13:56 )
33
บูมเวทีเอเปก2022 เอกชนไทยเดินหน้าทำงานร่วมกับ 21 เขตเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค เปิดเผยว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) หรือ ABAC ทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน สมาชิก 63 ราย มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 คนต่อเขตเศรษฐกิจ จากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยจะมีผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้แทนไทยในสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยแต่ละปีจะมีการเวียนให้สมาชิกแต่ละประเทศทำหน้าที่ประธาน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปี 2022 นี้

 

โดยตราสัญลักษณ์ของ ABAC 2022 จะใช้ตราสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “ลายดอกลอย” ซึ่งเป็นลวดลายตามวิถีทางศิลปะไทยที่สื่อสะท้อนถึงช่วงเวลาแห่งการ ผลิดอก ออกใบ เบ่งบาน เส้นสายเล็กๆ ที่แตกต่าง แต่ร่วมกัน สอดประสาน ต่อยอดถักทอ เกิดเป็นรูปทรงของลาย “ดอกลอย” มีชิ้นส่วนองค์ประกอบทั้งสิ้น 21 ชิ้น เท่ากับจำนวนสมาชิกเขตเศรษฐกิจของเอเปก สะท้อนถึงการผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อเตรียมรับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของโลก พร้อมเดินหน้าสู่โลกที่เปลี่ยนไปสู่ดุลยภาพใหม่

 

ทั้งนี้ ABAC 2022 ได้กำหนดธีมหลักของงาน คือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE” ซึ่งสื่อความหมายดังนี้ EMBRACE: แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจหลังจากหยุดนิ่งจากสภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก ENGAGE: สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตร่วมกัน และ ENABLE: ขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทุกที่ทุกเวลา

 

 

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม Executive Director ABAC 2022 และประธานคณะทำงาน ABAC Executive Director Support 2022 กล่าวว่า คณะทำงาน ABAC Executive Director Support 2022 เป็นคณะทำงานที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันข้อเสนอต่างๆ ที่ประเทศไทยเห็นว่ามีความสำคัญ โดยจะทำงานร่วมกับ 5 Working Group ของ ABAC อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้แทน Working Group ทั้งหมด จะมาจาก 21 เขตเศรษฐกิจของ APEC นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวม สรุปประเด็นในร่างหนังสือเสนอผู้นำ APEC และรัฐมนตรี APEC ด้วย

 

นายเวทิต โชควัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงาน Event ABAC4 กล่าวว่า การประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council – ABAC) จะมีทั้งหมด 4 ครั้งในปี 2022 โดยประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งที่ 4 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคณะทำงานต้องเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้แทน ABAC จากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ที่จะมาร่วมประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงอำนวยความสะดวกในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงระยะเวลาของการประชุม

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทน ABAC ประเทศไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า การประชุม APEC CEO Summit จะมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย เนื่องจากจะมีการเชิญผู้นำประเทศ APEC หลายท่านเข้าร่วมงาน เชื่อมั่นว่าผู้นำทุกท่านจะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่จะสามารถนำพา 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ก้าวผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ไปได้ นอกจากนี้ ยังมี CEO ผู้นำทางธุรกิจ รวมถึงผู้แทนบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมงาน ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งของไทย

 

นายกอบศักดิ์ ดวงดี ผู้แทน ABAC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การจัดงาน APEC Digital Trade Symposium: Advancing Digital Trade Transformation and Connectivity in APEC ถือเป็นกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นสำหรับการเป็นเจ้าภาพของไทยโดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก International Chamber of Commerce (ICC) และ Asia Pacific Financial Forum (APFF) ภายใต้ ABAC ที่ได้เข้าร่วมจัดงานและจัดวาระการประชุมรวมถึงเชิญผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสำคัญต่างๆ ทั่วโลก มาร่วมเป็นวิทยากรใน Symposium ครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง