รีเซต

วันเข้าพรรษา 2565 ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ไขข้อสงสัยต้องเวียนเทียนหรือไม่

วันเข้าพรรษา 2565 ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ไขข้อสงสัยต้องเวียนเทียนหรือไม่
TNN ช่อง16
1 กรกฎาคม 2565 ( 16:49 )
197
วันเข้าพรรษา 2565 ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ไขข้อสงสัยต้องเวียนเทียนหรือไม่

วันเข้าพรรษา 2565 มีความสำคัญอย่างไร เปิดประวัติทำไมต้องเข้าพรรษา เหตุใดพระสงฆ์ต้องจำวัด 3 เดือน พร้อมรู้จักที่มาประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และประเพณีแห่เทียนพรรษา รวมทั้งไขความเข้าใจวันเข้าพรรษาต้องเวียนเทียนหรือไม่?

"วันเข้าพรรษา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น คือตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

"วันเข้าพรรษา 2565" ปีนี้นั้น วันเข้าพรรษาตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล โดยวันเข้าพรรษานับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งสืบเนื่องมาจาก วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนชาวพุทธได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติทำบุญในวันเข้าพรรษามาเป็นเวลานานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันเข้าพรรษา คือวันอะไร

ความหมายของ "วันเข้าพรรษา" 

คำว่า "พรรษา" ในที่ทั่วๆ ไป แปลว่า ปี หมายถึง ระยะเวลาที่ครบรอบ 12 เดือน หรือเวลาที่โลกเดินรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง แต่ในที่นี้แปลว่า ฤดูฝน

คำว่า "เข้าพรรษา" คือ เข้าฤดูฝน คือ ถึงเวลาที่จะต้องหยุดการเดินทางในฤดูฝน พักอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ไปแรมคืนที่อื่น เพราะเหตุนี้ จึงมีคำเกิดขึ้นอีกคำหนึ่งคือคำว่า จำพรรษา

คำว่า "จำพรรษา" คือ อยู่วัด 3 เดือนในฤดูฝน หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่ในวัดที่ตนอธิษฐานพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้นอกจากมีเหตุจำเป็น

คำว่า "วันเข้าพรรษา" ก็คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษานั่นเอง

สำหรับการจำพรรรษมี 2 ระยะ ได้แก่

1. ปุริมพรรษา คือ พรรษาแรก หรือ พรรษาต้น ตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังออกพรรษาแล้ว พระที่อยู๋จำพรรษาครบ 3 เดือน มีสิทธิ์รับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียง 1 เดือน นับตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2. ปัจฉิมพรรษา คือ พรรษาหลัง หมายถึงกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลแบบเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะต้องออกพรรษาใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุทีเข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน


ประวัติ วันเข้าพรรษา

หนังสือ “วันเข้าพรรษา” ที่จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เล่าถึงประวัติไว้ว่า มูลเหตุที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษา ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ตอนวัสสูปนายิกขันธกะ พระไตรปิฎก เล่ม 4 ได้แสดงถึงสาเหตุไว้ดังนี้

ประเพณีในมัชฌิมประเทศสมัยโบราณ คือ อินเดียตอนเหนือ ประชาชนที่เที่ยวไปมาอยู่เสมอจากเมืองโน้นไปเมืองนี้ จากเมืองนี้ไปเมืองนั้น คือ ผู้ที่เป็นพ่อค้าเที่ยวค้าขายก็ดี ผู้ที่ประพฤติตน เป็นนักบวชไม่มีห่วงใยเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นพวกเดียรถีย์และ ปริพาชกต่างๆ ก็ดี

เมื่อถึงฤดูฝนก็หยุดพักแรมอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง สิ้นฤดูฝนแล้วจึงเดินทางต่อไป เพราะภูมิประเทศสมัยนั้น เมื่อฝนตกย่อมเป็นโคลนเลนทั่วไป ไม่สะดวกแก่การเดินทางในฤดูฝน แม้ถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จไปมาอยู่ในเมืองต่างๆ ทั่วมัชฌิมประเทศ มิได้ประทับอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งเป็นประจำ

เมื่อถึงฤดูฝน พระองค์ก็หยุดประทับอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งเหมือนเช่นคนอื่นๆ พระสงฆ์ทั้งหลายเมื่อยังมีน้อย และดำรงอยู่ในโลกุตตรคุณ รู้จักกาลอันควรและไม่ควร ต่างก็หยุดพักเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุอันใดที่พระพุทธเจ้าจะต้องทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา 

จนกระทั่งมีภิกษุมากขึ้น วันหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่ง เรียกว่า ฉัพพัคคีย์ คือ พวกที่มี 6 รูปด้วยกัน ไม่รู้จักกาลเวลา เที่ยวไปมาทุกฤดูกาล ไม่หยุดพักเลย แม้ในฤดูฝนก็ยังเดินทาง เที่ยวเหยียบย่ำต้นหญ้าและสัตว์เล็กๆ คนทั้งหลายพากันติเตียนว่า แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชกเขาก็ยังหยุด


แม้นกก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้เพื่อหลบฝน แต่พระสมณศากยบุตร ทำไมจึงยังเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบย่ำต้นหญ้า และทำสัตว์ให้ตายเป็นอันมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษา บัญญัติเป็นธรรมเนียมไว้ว่า เมื่อถึงฤดูฝนให้ภิกษุจำพรรษา คือ อยู่ประจำที่ในฤดูฝนในที่แห่งเดียวเป็นเวลา 3 เดือน เรียกว่า "เข้าพรรษา" ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องจำพรรษา และมีวันเข้าพรรษาสืบมาจนบัดนี้

สถานที่ที่พระสงฆ์จำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้จำพรรษาในที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้และในตุ่ม ซึ่งไม่ใช่เสนาสนะ คือ ไม่ใช่ที่อยู่ที่อาศัย ทรงอนุญาตให้จำพรรษาในกูฏิที่มุงที่บังมีหลังคา และฝารอบขอบชิด อยู่ให้ครบ 3 เดือน ถ้าอยู่ไม่ครบ 3 เดือน ไปที่อื่นเสียก่อน พรรษาขาดและต้องอาบัติคือมีโทษ แต่เป็นโทษขนาดเบา เรียกว่า "อาบัติทุกกฏ"

หากมีภัยอันตรายเกิดขึ้น จะอยู่ในที่นั้นไม่ได้ เช่น น้ำท่วม ชาวบ้านถิ่นนั้นอพยพไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น อนุญาตให้ไปในระหว่างพรรษาได้ไม่เป็นอาบัติ หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องไปแรมคืนที่อื่น เช่น กิจนิมนต์ กิจเกี่ยวกับพระศาสนา พระอุปัชฌาย์อาจารย์ อาพาธ เป็นต้น อนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหสันนิวัต คือ ไปแล้วกลับมา ภายใน 7 วัน พรรษาไม่ขาด


ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

สาเหตุที่ทำให้มีการถวายผ้าอาบน้ำฝนมีว่า เดิมทีพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ผ้าเพียง 3 ผืน คือ "สังฆาฏิ" ได้แก่ ผ้าพาดบ่า "จีวร" ได้แก่ ผ้าห่ม "สบง" ได้แก่ ผ้านุ่ง ซึ่งรวมเรียกว่า "ไตรจีวร" ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าอาบน้ำฝน ครั้นเวลาฝนตก ภิกษุอาบน้ำฝน จึงต้องเปลือยกายอาบ เพราะไม่มีผ้าจะนุ่งอาบ 

วันหนึ่ง นางวิสาขา ใช้หญิงคนใช้ให้ไปวัดขณะฝนตก หญิงคนใช้เห็นภิกษุเปลือยกาย อาบน้ำฝน เข้าใจว่าเป็นเดียรถีย์ จึงกลับมาบอกนางวิสาขา นางวิสาขาจึงได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุ ขอให้ภิกษุรับผ้าอาบน้ำฝนที่มีคนถวายได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ผ้าอาบน้ำฝนตั้งแต่นั้นมา และได้เป็นประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝนมาจนบัดนี้


ประเพณีแห่เทียนพรรษา

สมัยก่อนพระภิกษุไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุจุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน การนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี 

แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ บางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว พระภิกษุคงนำเทียน ไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น


ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

1.หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็น เวลา 8-9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าสำหรับเตรียมการสั่งสอนให้แก่ประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

2.พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล ทำบุญ ตักบาตร ถือศีลฟังเทศน์ ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ในช่วง

เข้าพรรษา

3.กุลบุตรผู้มีอายุครบ 20 ปี ได้มีโอกาสเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในช่วงเข้าพรรษา ศึกษาพระธรรมวินัย เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

วันเข้าพรรษา นอกจากจะเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่ประจำที่ดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดประเพณีสำคัญขึ้นอีก 2 ประเพณีคือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ประเพณีแห่เทียนพรรษา

วันเข้าพรรษา เวียนเทียนหรือไม่?

สำหรับประเพณีการ “เวียนเทียน” มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้บูชา และระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยกำหนดให้เดินวน 3 รอบ ในบริเวณวัด แต่ต้องเป็นส่วนสำคัญภายในวัด อาทิ โบสถ์ เจดีย์ โดยระหว่างเดินนั้นต้องถือดอกไม้ ธูปเทียน พร้อมกับสำรวมจิตใจให้สงบไปด้วย ซึ่งการเวียนเทียนนิยมทำกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา

ส่วนวันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ไม่มีการเวียนเทียน โดยในวันออกพรรษา จะมีการทำบุญ คือ บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก



ข้อมูลจาก หนังสือวันเข้าพรรษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง