เปิดรายละเอียดสำคัญ "นโยบายเร่งด่วน" 52 หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงต่อรัฐสภา
เปิดรายละเอียดสำคัญ "นโยบายเร่งด่วน" 52 หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงต่อรัฐสภา 11 กันยายน 2566 เนื้อหาสำคัญเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 52 หน้า มีเนื้อหาสำคัญระบุถึงนโนบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจ
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (เงินดิจิทัล)
- จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
- เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
- และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ
- เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ
- รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
ที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
1. นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
- จะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม
- มาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรมของผู้มีภาระหนี้สิน
2. นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
- สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
- เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง
- สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม
- สนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด
3. นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
- ตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย
- การจัดหา Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ และเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสิ้นปี
- ร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก
- ปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศ
- แก้ปัญหาการทุจริต การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
4. และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
- จะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญ กับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
- หารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ ถ้อยคำแถลงที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงต่อรัฐสภานี้ เป็นการวางกรอบนโยบายบริหารประเทศ
- ระยะสั้นเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่าย
- ระยะกลางและระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งเตรียมจะแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ต่อไป
ภาพจาก Thaigov