รีเซต

พ.ค.นี้ ”ไข่-เครื่องดื่ม-เหล็ก-บ้าน” จ่อขึ้นราคาอีก 10%

พ.ค.นี้ ”ไข่-เครื่องดื่ม-เหล็ก-บ้าน” จ่อขึ้นราคาอีก 10%
มติชน
21 เมษายน 2565 ( 18:33 )
52

ข่าววันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลส่งสัญญาณจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มีหลายภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่จะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

 

ค่าขนส่ง-สินค้าขยับตาม15-20%

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ทางผู้ประกอบการขนส่งจะปรับขึ้นค่าขนส่งทั่วประเทศขั้นต่ำ 15%หรืออาจจะมากกว่า 20%  เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดและราคาน้ำมันดีเซลหลังรัฐบาลจะเลิกตรึงราคา 30 บาท/ลิตร โดยจะปรับขึ้นแบบเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 32-35 บาท/ลิตร

 

“จุดคุ้มทุนของเราน้ำมันต้องอยู่ที่  25 บาท/ลิตร ที่ผ่านมาก็แบกรับภาระไว้ แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการออกมาก็ต้องปรับค่าขนส่งขึ้นให้สอดรับ โดยน้ำมันขึ้นทุก 1 บาท จะปรับค่าขนส่งขึ้น 3% และส่งผลต่อผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามอย่างน้อย 20% ขณะเดียวกันเราคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หลังราคาน้ำมันปรับขึ้นแล้ว ต้องปรับแผนอย่างไรเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หากผู้ผลิตไม่ยอมรับเรื่องการปรับขึ้นค่าขนส่ง  เช่น อาจจะหยุดวิ่งบางส่วน “นายอภิชาติกล่าว

 

แนะ 3 ทางออกรัฐแก้พลังงานแพง

นายอภิชาติกล่าวว่า ทั้งนี้ทางสหพันธ์ฯมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง โดย 1.ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้านขนส่งเหลือ 0.20 บาทต่อลิตรเท่ากับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน 2.นำไบโอดีเซลที่ใช้ผสมน้ำมันออกจากระบบชั่วคราวจะลดได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร เพราะปัจจุบันราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลเท่าตัว  และ3.ในการเทียบราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ขอให้เลิกคิดค่าขนส่งรวมเข้าไปในต้นทุนด้วย

 

Q2สินค้าปรับโครงสร้างราคายกแผง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าหลังสงกรานต์ยังไม่มีผู้ผลิตแจ้งปรับราคาหลังจากก่อนหน้านี้ได้ทยอยปรับไปแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลเลิกตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตรตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ต้องติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตจะต้องปรับราคาขายขึ้นตามต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้น ส่วนจะมากหรือน้อยอยู่ที่การพิจารณาของผู้ผลิต เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมีการแข่งขันสูง หากปรับขึ้นมากจะทำให้ขายได้ยาก

 

“ตั้งแต่พฤษภาคมนี้เริ่มจะเห็นของจริงแล้ว ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น และจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ไตรมาสที่2 นี้เป็นช่วงของการปรับโครงสร้างราคาสินค้าใหม่ทั้งหมด จากนั้นประเมินผลอีกครั้งในไตรมาสที่3”นายสมชายกล่าว

 

กำลังซื้อซบหนัก

นายสมชายกล่าวถึงกำลังซื้อในขณะนี้ว่า กำลังซื้อซบเซามาก เพราะคนไม่มีเงินในกระเป๋า  หากรัฐบาลจะออกโครงการคนละครึ่งเฟส5 คงจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรจะหาพื้นที่เพื่อให้เขาสามารถทำมาหากินได้จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนกว่า เพราะถึงจะรัฐจะออกคนละครึ่ง ถ้าคนไม่มีเงิน ยังไงก็ไม่ได้ผล

 

พรุ่งนี้ไข่ไก่ขึ้นอีก10 สต./ฟอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม อีก 10 สตางค์/ฟอง อยู่ที่ 3.40 บาท/ฟอง เป็น 3.50 บาท/ฟอง จากราคาปรับครั้งก่อนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565

 

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า การปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรก ผู้เลี้ยงไก่ไข่แบกรับภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นไม่ไหว ล่าสุดอาหารสัตว์ปรับราคาขึ้นอีก 60 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากเดิมกว่า 14.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15.10 บาทต่อกิโลกรัม และปัจจัยสอง เกิดจากภาวะของตลาดในช่วงนี้ที่มีความต้องการบริโภคไข่ไก่สูง จึงทำให้ไข่ไก่ขายดี ขณะที่การผลิตในหลายพื้นที่ลดลง ผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เปอร์เซนต์ผลผลิตไข่ไก่ลดลงและไข่ไก่มีขนาดเล็กลง จึงยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

 

“ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งสงครามรัสเซียกับยูเครนยังไม่สงบ ไม่รู้ว่าต้นทุนจะปรับขึ้นอีกเท่าไหร่ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีข้อยุติแก้ปัญหาอาหารสัตว์แพง เพราะจากสงครามยังไม่เลิก ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการยังไม่นิ่ง” นายมาโนช กล่าว

 

ปลายเม.ย.เหล็กขึ้นราคาอีกระลอก

นางจรรยา สว่างจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล จำกัด (มหาชน) ผู้ค้าเหล็ก เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาเหล็กในประเทศว่า ขณะนี้ยังทรงตัวเนื่องจากโรงงานผู้ผลิตยังเปิดดำเนินการไม่เต็มที่ ทำให้ราคายังนิ่ง โดยเหล็กเส้นราคาอยู่ที่กว่า 30 บาท/กิโลกรัม เหล็กรูปพรรณอยู่ที่ 37-38 บาท/กิโลกรัม โดยราคาใหม่จะออกมาปลายเดือนเมษายนนี้ และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ ขณะที่รัฐบาลเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลอีก ทำให้ต้นทุนการขนส่งและการผลิตเหล็กสูงขึ้น

 

“อยากให้รัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตรออกไปอีก แล้วหาทางอื่นมาแก้ปัญหาเรื่องกองทุนน้ำมัน เพราะราคาพลังงานเป็นต้นทุนของการผลิตทุกอย่าง ไม่ใช่แค่กระทบค่าครองชีพของคน ยังส่งผลถึงการลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ ชะลอเปิดประมูลได้”นางจรรยากล่าว

 

รับสร้างบ้านพ.ค.ปรับ5-10%

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผย การที่รัฐบาลเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร จะซ้ำเติมต้นทุนก่อสร้างบ้านให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก จากเดิมมีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้วัสดุก่อสร้างทุกรายการปรับราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาคมไม่สามารถตรึงราคาบ้านได้อีกต่อไป จากการหารือกับบริษัทรับสร้างบ้านเป็นสมาชิกสมาคมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปจะทยอยปรับราคาบ้านทุกระดับราคาขึ้นอีก 5-10% หลังไม่ได้ปรับมา 3 ปี

 

“น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนการขนส่งของวัสดุก่อสร้าง เมื่อน้ำมันขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาบ้าน เป็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ เดิมช่วงเกิดสงครามจากต้นทุนที่สูงขึ้น เราประเมินว่าจะปรับราคาบ้าน 5-8% แต่เมื่อมีราคาน้ำมันดีเซลมาเป็นปัจจัยเพิ่ม ทำให้ต้องปรับราคาถึง 10%”นายวรวุฒิกล่าว

 

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากน้ำมันดีเซลที่รัฐจะปรับขึ้นเป็น 35 บาท/ลิตร ส่งผลต่อราคาบ้านปรับขึ้นแน่นอน เพราะกระทบต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นประมาณ 5-10% แต่การปรับราคาบ้านคงปรับได้ไม่มาก โดยคาดว่าไตรมาสที่2 ปีนี้ ราคาจะปรับขึ้น 1-2% และเป็น 3-4% ในไตรมาสที่3และ4ของปีนี้

 

น้ำผลไม้จ่อขึ้นรับต้นทุนพุ่ง10%

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม จะปรับราคาขายขึ้นทั้งระบบ เช่น น้ำผลไม้ ให้สอดรับกับต้นทุนที่ปรับขึ้นไปแล้ว 10% จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังนับไม่รวมราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาเดือนพฤษาคมและค่าแรงที่จะปรับขึ้นอีก

 

“ถ้าไม่ขึ้นก็อยู่ไม่ไหว เพราะต้นทุนขึ้นทุกอย่าง แต่ต้องให้เป็นราคาที่รับได้ทุกฝ่ายทั้งผู้บริโภค ผู้จัดจำหน่วย และเกษตรที่ผู้ประกอบการน้ำผลไม้จะต้องซื้อวัตถุดิบมาทำเป็นผลิตภัณฑ์

 

พ่วงเส้นทางขนส่งลดต้นทุน

น.ส.ปภาวี สุธาวิวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่จะปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างแน่นอน แม้ว่าทางผู้ประกอบการจะส่งออกผ่านทางเครื่องบินเป็นหลัก แต่ต้องใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า โดยสมาคมได้หารือกับผู้ประกอบการ จะใช้เส้นทางและรถคันเดียวกันในการขนส่งสินค้าแต่ละรอบ เพื่อเป็นการประหยัด เพราะตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบจากเครื่องบินที่ปรับขึ้นค่าขนส่ง 2-3 เท่าตัว เช่น จาก 25 บาท/กิโลกรัม เป็น 60 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นเส้นทางยุโรป อยู่ที่ 200 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ทางเรือก็ปรับขึ้นเท่าตัว เป็นผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นและตู้คอนเทรนเนอร์ขาดแคลน

“คงต้องปรับราคาขายขึ้นตามต้นทุน เพื่อให้อยู่ได้ทั้งเราและเกษตร เพราะต้นทุนหลัก คือ ราคาวัตถุดิบและค่าจนส่ง ถ้าไม่ปรับเลยคงไม่ได้” น.ส.ปภาวีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง