รีเซต

แชร์วิธีคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยตนเองก่อน ยื่นภาษี 2564

แชร์วิธีคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยตนเองก่อน ยื่นภาษี 2564
TNN ช่อง16
26 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:57 )
822

เมื่อถึงรอบที่จะต้อง ยื่นภาษี กรมสรรพากรก็ได้เปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดยื่นแสดงรายได้และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2564 สามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2565 และสามารถยื่นแบบภาษีฯได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือยื่นผ่าน Rd smart tax application ทางโทรศัพท์มือถือ จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ออกไปอีก 8 วัน 


โดยการ ยื่นภาษี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ถ้าจะให้มองเห็นภาพง่ายๆเลย ก็คือ  คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 หรือคนที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น  

ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆเช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ ก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90  ซึ่งการคิดอัตราภาษีนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิหรือรายได้ของผู้เสียภาษีแต่ละคน 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2564 (สำหรับยื่นแบบในช่วงต้นปี2565) 
เงินได้สุทธิ(บาท) 
อัตราภาษี (%) ภาษีที่ต้องจ่ายแต่ละขั้น (บาท) ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น(บาท)
1-150,000ได้รับยกเว้น--
150,001-300,0005%7,5007,500
300,0001-500,000 
10%20,00027,500
500,0001-750,000
15%37,50065,000
750,001-1,000,00020%50,000115,000
1,000,0001-2,000,000
25%250,000365,000
2,000,001-5,000,00030%900,0001,265,000
5,000,001 ขึ้นไป35%คำนวณตามจริงคำนวณตามจริง

ข้อมูล : กรมสรรพากร 


ยกตัวอย่าง กรณีมีรายได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) และประเภทที่ 2 (ค่าจ้างทั่วไป-ฟรีแลนซ์) จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น จากตารางด้านบนนี้แสดงว่า หากมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี  

แต่ถ้ามีรายได้สุทธิมากกว่า 310,000 บาท แสดงว่าจะต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ให้วิธีคำนวณภาษี ด้วยการ  นำ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน  x อัตราภาษี 


ขั้นตอนที่ 1    นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ ในการ ยื่นภาษี

ตัวอย่างที่หนึ่ง

มานะ มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

 - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท

 จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน  โดยให้ลองสำรวจดูว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท  เช่น หากปีนี้ มานะ ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องเลี้ยงดู 1 คน, ซื้อ SSF ไป 50,000 บาท, ซื้อประกันสุขภาพ 9,000 บาท ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้

- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

- หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท

- หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท

- หักค่าซื้อ SSF ไป 50,000 บาท

- หักค่าประกันสุขภาพ 9,000 บาท

รวมหักไปทั้งสิ้น 209,000 บาท

ทำให้ มานะ จะเหลือรายได้สุทธิ 291,000 บาท

ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี  ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษี ในปี 2564 ที่มานะต้องเสีย (ตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา2564 ด้านบน)

กรณีของมานะ มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 291,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (291,000-150,000) = 141,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 7,050 บาท

ภาพประกอบ:AFP, สรรพากร


ตัวอย่างที่สอง

พากเพียรทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 800,000 บาท เลี้ยงดูบุตรอายุ 6 ขวบ และ 4 ขวบ ส่งเงินสมทบประกันสังคม 5,100 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 50,000 บาท เลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน คำนวณภาษีได้ด้วยการ

- หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท

- หักค่าประกันสังคม 5,100 บาท

- หักค่าซื้อประกันชีวิต 50,000 บาท

- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

- หักค่าลดหย่อนบุตร 2 คน รวม 60,000 บาท

- หักค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน รวม 60,000 บาท

รวมหักค่าลดหย่อนไป 335,100 บาท ดังนั้น พากเพียร จะเหลือรายได้สุทธิ 800,000-335,100 = 464,900 บาท จึงต้องเสียภาษีที่ขั้น 10% ซึ่งคำนวณแต่ละขั้น(ตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา2564 ด้านบน) 

- 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (464,900-150,000) = 314,900 บาท

- ส่วนต่อมาเสียภาษี 5% ซึ่งจำนวนเงินภาษีของฐาน 5% คือ 7,500 บาท  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณต่อที่ฐาน 10% (314,900-150,000) = 164,900 บาท

- เงินส่วนที่เหลือ 164,900 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 16,490 บาท

นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+16,490) เท่ากับพากเพียรต้อง เสียภาษี 23,990 บาท


ส่วนกรณีมีเงินได้ประเภทอื่น    นอกจากเงินเดือนด้วย จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกันไป ซึ่งต้องนำไปคำนวณอีกที ได้แก่

  • เงินได้ประเภทที่ 3 (ค่าลิขสิทธิ์) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ หักเฉพาะค่าสิทธิ
  • เงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ย, เงินปันผล) : หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
  • เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) : หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% หรือหักตามจริง
  • เงินได้ประเภทที่ 6 (ค่าวิชาชีพอิสระ) : แพทย์ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือตามจริง ส่วนอาชีพนักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง  
  • เงินได้ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
  • เงินได้ประเภทที่ 8 (อื่น ๆ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% (เฉพาะกิจการ 43 ประเภท) หรือหักตามจริง 


กรณีมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ นอกจากเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชัน เบี้ยเลี้ยง บำเหน็จ บำนาญ) รวมกันเกิน 1 ล้านบาทต่อปี จะต้องลองใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา คือ

(เงินได้ทั้งหมด - เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%

 แล้วเปรียบเทียบกันดูว่า  วิธีคำนวณภาษีแบบปกติ คือ (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี  กับคำนวณภาษีแบบเหมา  คือ (เงินได้ทั้งหมด - เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%  แบบไหนต้องจ่ายภาษีมากกว่าก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณเพื่อเสียภาษี

ภาพประกอบ:AFP


สำหรับใครที่ยังไม่ได้ ยื่นภาษี ก็ลองนำวิธีการคำนวณภาษีไปลองประเมินค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นกันดู เพื่อที่จะได้วางแผนภาษีกับช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้  โดยต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า หากจ่ายเพิ่มแล้วจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือนำมาลดหย่อนได้จริงหรือไม่   ถ้าดูแล้วเป็นประโยชน์ก็สมควรจะที่จะจ่ายเพิ่ม ที่สำคัญอย่าลืมเช็กเวลาสิ้นสุดการยื่นภาษีด้วยล่ะ ...




อ้างอิง : กรมสรรพากร

ภาพประกอบ: พีอาร์ ซิตี้แบงก์ 





ข่าวที่เกี่ยวข้อง