กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีถกเข้มสหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย พร้อมแนะแนวทางทวงหนี้
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมชี้แจงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด 86 สหกรณ์ มูลหนี้ 4.3 หมื่นล้านบาท ว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเพียงการหารือเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้ ส่วนข้อสรุปแนวทางยังคงต้องรอความชัดเจนว่าผู้ทำแผนจะกำหนดแนวทางในการชำระหนี้ออกมาอย่างไร เบื้องต้นมองว่า หากมีแนวทางลดดอก ทางสหกรณ์เจ้าหนี้น่าจะพอยอมรับได้ แต่หากเป็นการลดหนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงแรกที่มีกระแสข่าวออกมา มีสมาชิกสหกรณ์แห่ถอนเงินออกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจ แต่ตอนนี้การฝากถอนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และตอนนี้ได้สั่งให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบสหกรณ์การเกษตรรายใหญ่ ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป นำร่องใน 7 สหกรณ์ เพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยง เรื่องทุจริตที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสมาชิกสหกรณ์ได้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะสหกรณ์เจ้าหนี้ จากนี้ต่อไปควรรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อพลังต่อรอง และก่อนที่จะให้ข่าวหรือสัมภาษณ์ต้องตกลงกันก่อนว่า มีเรื่องอะไร
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยทุกแห่ง ยังคงมีความมั่นคง แนวทางขอรับชำระหนี้ไว้ที่เคยวางไว้ 3-4 แนวทาง อาทิ การรับชำระหนี้เต็มจำนวน, งวดชำระเท่าเดิม หรือขยายเวลางวดชำระออกไป และการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสหกรณ์ไม่หายไป เป็นเพียงการวางแผนนำร่องในการดูแล ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มสหกรณ์เจ้าหนี้ โดยยอดเงินการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยของสหกรณ์มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับ การตรวจสอบสหกรณ์รายใหญ่ คณะทำงานฯ ที่แต่งตั้งขึ้น ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยขณะนี้มีสหกรณ์ทั่วประเทศอยู่ 8,000 แห่ง เป็นสหกรณ์รายใหญ่ประมาณ 150 แห่ง ย้ำว่าเป็นเพียงการตรวจสอบ คุมเข้ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับสมาชิกในอนาคต
น.ส.ปนัดดา สินธุวิสุทธ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงถึงการจุดประสงค์ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อรักษามูลค่าขององค์กรธุรกิจนั้นทั้งหมดไว้ เป็นหนึ่งเดียวแทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วนๆ อีกทั้งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรมเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หุ้น เจ้าหนี้แรงงาน เจ้าหนี้การค้า เป็นต้น และเพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปและรักษาสภาพการจ้างงานไว้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานะการล้มละลาย ดังนั้นในขณะนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจดังกล่าวต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ อย่างถูกต้อง