"เงินออกจากบัญชีเอง เพราะอะไร" ธปท.แจ้ง ไม่ได้มาจาก "แอปดูดเงิน" โดนหักเงินในบัญชี ต้องทำอย่างไร
เป็นเรื่องราวที่แชร์ต่อกันเป็นจำนวนมากในฯโลกออนไลน์ เมื่อเกิดกรณี “เงินออกจากบัญชีเอง” หรือ “แอพดูดเงิน” ที่โลกออนไลน์คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากการถูกแฮคระบบบัญชีธนาคารหรือไม่ ล่าสุดแบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงแล้วว่าการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยไม่รู้ตัวไม่ได้มีสาเหตุมาจาก “แอพดูดเงิน” ด้านตำรวจอยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต โดยมิจฉาชีพจะทำการหักเงินออกจากบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC หรือเครื่องรูดบัตร แต่ไม่มี SMS แจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัตร มีการถอนเงินออกจำนวนหลายครั้งแต่ละครั้งจะถอนเงินจำนวนไม่มาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
เงินถูกตัดจากบัญชีเองเพราะอะไร
จากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และสมาคมธนาคารไทย พบว่าไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่เป็นข่าว
ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะดูดเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตร ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเริ่มต้นมาจากถูกมิจฉาชีพปลอมเป็นหน่วยงานต่างๆ ส่ง sms ไปหลอกถามข้อมูลบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานาที่ดูน่าเชื่อถือ
ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะโดนหลอกเอาข้อมูลแบบนี้ก่อน ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปหักเงินจากบัญชีได้ เป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะถูกแฮก เพราะหากธนาคารถูกแฮก จะต้องแฮกทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นทุกคนจะต้องโดนเหมือนกันหมด
อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการทำธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพหาช่องโหว่ในการนำข้อมูลของลูกค้าไปขายในตลาดมืดด้วย
โดนหักเงินจากบัญชี ต้องทำอย่างไร
1.สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป
2.ทำการอายัดบัตร และปฎิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี
3.รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
การป้องกันไม่ให้เงินรั่วไหลจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว
1.ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตร เพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไปรษณีย์ไทยปลอม ซึ่งคนร้ายจะทำหน้าเว็บไซต์มีโลโก้ไปรษณีย์ไทยเหมือนของจริง
2.หลีกเลี่ยงการกดลิงค์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือ สื่อสังคมออนไลน์ หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก
3.ควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ
มิจฉาชีพ แอบหักเงินจากบัญชีธนาคาร ผิดกฎหมายอะไรบ้าง
การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , เพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว , เพจ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง