ก.ล.ต.จ่อปรับเกณฑ์มาร์จิ้น คุมบล.-นักลงทุนทำธุรกรรม
#ก.ล.ต. #ทันหุ้น – ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ปล่อย Margin Loan เข้มวางหลักประกัน บริหารความเสี่ยง ลดการกระจุกตัวหุ้น เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม
ปัจจุบัน บล. มีการให้บริการ Margin Loan แก่ผู้ลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นมีราคาผันผวนและลดลงจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงจะส่งผลกระทบกับมูลค่าหลักประกันจน บล. ต้องบังคับขายหลักประกัน แต่มูลค่าการบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้จึงเกิดความเสียหายต่อ บล. และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม ประกอบกับ บล. บางแห่งมีการปล่อย Margin Loan ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของตนเอง และ บล. หลายแห่งมีการปล่อย Margin Loan ที่กระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน
นอกจากนี้ การบังคับขายหลักประกันที่เป็นหน่วยลงทุนอาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลดลงจนอาจนำไปสู่การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆ ตามมา และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายจากการบังคับขายทอดตลาดที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการปล่อยกู้ให้บุคคลกลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ (Loan Against Securities : LAS) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธุรกรรม Margin Loan
*บริหารความเสี่ยง
ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงของ บล. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ปรับปรุงอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้ 2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น 3.กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม
4. กำหนดให้ บล. คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม ทั้งการเรียกให้ลูกค้านำเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (Call) และการบังคับชำระหนี้ (Force) Margin Loan 5.ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิ้น (Marginable Securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม Margin Loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
6. กำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จิ้นเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (Substance) ของธุรกรรมดังกล่าว เช่น กรณีที่การใช้ Margin Loan เพื่อซื้อหลักทรัพย์ Big Lot กับผู้เกี่ยวข้อง อาจมีลักษณะที่อาจเข้าข่าย Loan Against Securities ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ บล. ไม่สามารถให้บริการได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการในเรื่องดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1056 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDgwOERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail : benja@sec.or.th kunpatu@sec.or.th laksika@sec.or.th anudporn@sec.or.th sawarin@sec.or.th หรือ arthipha@sec.or.th จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568