รีเซต

สธ.แจงเหตุฟาวิพิราเวียร์ขาด เกิดจากไม่ได้คีย์ข้อมูลเข้าระบบ เผยไทยวันละ 2 ล้านเม็ด มีพอ 10 วัน พร้อมเติมตลอด

สธ.แจงเหตุฟาวิพิราเวียร์ขาด เกิดจากไม่ได้คีย์ข้อมูลเข้าระบบ เผยไทยวันละ 2 ล้านเม็ด มีพอ 10 วัน พร้อมเติมตลอด
มติชน
29 มีนาคม 2565 ( 11:41 )
80

วันที่ 29 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. แถลงชี้แจงถึงการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันติดเชื้อใหม่รวมการตรวจ ATK วันละ 2 – 4 หมื่นราย ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ยารักษาทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวันที่ 28 มี.ค.65 มียาคงคลังฟาวิพิราเวียร์ทั่วประเทศทั้งหมด 22.8 ล้านเม็ด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด

 

“ดังนั้น อัตราการใช้จึงอยู่ที่ 10 วัน แต่เรามียาเพิ่มเติมตลอดเวลา และได้มีการกระจายยาในระบบออนไลน์ที่เรียกว่า VMI เมื่อโรงพยาบาล (รพ.) มีการใช้ยา จะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่า ใช้ไปเท่าไร ก็จะปรากฎข้อมูลที่ส่วนกลาง ทำให้ทราบว่าเหลือยาเท่าไร จากนั้นก็จะเติมไปให้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะเป็นผู้จัดหายาเติมให้ ใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสูงขึ้น จึงมีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบัน มาคีย์ครั้งเดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่า บางพื้นที่มีการใช้ไปเท่าไร จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทัน แต่ไม่ได้ขาดยา เพราะมีการบริหารจัดการในจังหวัด รพ.ข้างเคียงส่งไปเติมได้” นพ.ธงชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ถึงปัจจุบันมีการกระจายยาประมาณ 72 ล้านเม็ด มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 2 ปีมาแล้วราว 200 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตามช่วงเดือนมี.ค.มีการกระจายยาตลอดเวลาทุกสัปดาห์ โดยในการสำรองยาทั้งหมดยังมีสต๊อกส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด รวมแล้วมียาสต๊อกทั้งหมด 25 ล้านเม็ด โดยกระจายตามรพ.ต่างๆประมาณ 22 ล้านเม็ด และอยู่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด

 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยา โดยเฉพาะไม่มีอาการ โดยทั้งหมดจะเป็นไปตามแนวปฏิบัติการรักษาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งยาที่จ่ายไปนั้น ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ร้อยละ 26 ส่วนฟ้าทะลายโจรร้อยละ 24 และอีกร้อยละ 52 ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากสูตรการรักษา “เจอ แจก จบ” เขตสุขภาพที่ 4 ,5 และ 6

“ยาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครสมควรได้รับตามอาการ เพราะยาอาจส่งผลต่อตับ ไตได้ จริงๆ เมื่อเราได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะฉีดวัคซีน 3 เข็ม ก็จะช่วยลดอาการ ทำให้อาการไม่รุนแรงได้ การรับยาจึงต้องเหมาะสมกับอาการเป็นไปตามแพทย์วินิจฉัย ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หมายความว่าร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ ภายใน 5 วัน ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อ คล้ายๆกับการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น จึงควรสำรองยาให้กับผู้ที่ควรได้รับยา เพราะบางคนภูมิคุ้มกันอาจไม่ดีพอ จึงต้องใช้ยาไปช่วย” นพ.ธงชัย กล่าว

 

รองปลัด สธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบเพียงร้อยละ 0.5 ที่การรักษาแบบเจอ แจก จบ หรือรักษาที่บ้าน (HI )มีอาการรุนแรงสูงขึ้นต้องไป รพ. ดังนั้น ต้องสังเกตอาการหากรุนแรงขึ้นก็จะได้รับช่วยเหลือในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ขอย้ำว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องดูตามอาการ อย่าไปเสี่ยงให้ยาเกิดผลกระทบต่อตับ ไต เป็นต้น ได้ จึงขอให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดการดื้อยา ลดผลกระทบต่อยา และยังลดค่าใช้จ่ายตัวท่านเองและประเทศชาติ

 

ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า หลังจาก สธ.มอบให้ทาง อภ.มีการสำรองยา 110 ล้านเม็ดเมื่อปลายเดือน ก.พ.2565 ซึ่ง อภ. ได้ทยอยส่งมอบให้สธ.ประมาณ 80 ล้านเม็ด และอีก 30 ล้านเม็ดจะทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงกลางเดือน เม.ย.นี้จะครบ 110 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน มี.ค.นี้ สธ.ให้มีการสำรองรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ และแจ้งแผนความต้องการเป็นฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ 75 ล้านเม็ด ทาง อภ.จึงได้เตรียมการสำรอง โดยจะมากลางเดือน เม.ย.นี้ ทั้งนี้ ในส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อมีการลงนามในสัญญา จะมีการส่งยาภายใน 2 สัปดาห์ อีกประมาณ 10 ล้านเม็ด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง