วัฒนธรรมดื่มเพื่อโอกาสธุรกิจ? จุดชนวนความโกรธแค้นในสังคมจีน หลังพนง.เสี่ยงถูกข่มขืน-เสียชีวิต
ข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศของพนักงานบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ได้ก่อให้เกิดประเด็นทางโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงวัฒนธรรมของการทำงานที่กดดันให้พนักงานต้องร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ จนเกิดการตั้งคำถามว่า “ประเพณีการดื่มเพื่อโอกาสทางธุรกิจอันเก่าแก่ควรจะยุติลงได้หรือยัง?”
คดีอื้อฉาวของ Alibaba
วัฒนธรรมการดื่มเพื่อธุรกิจของจีนกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังผู้จัดการอาวุโสของบริษัท Alibaba ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขา
คำบอกเล่าบนหน้ากระดานสนทนาทั้งหมด 11 หน้าของพนักงานหญิงที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งกลายเป็นกระทู้ที่เป็นกระแสบนเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Weibo เมื่อเดือนที่แล้ว เธอกล่าวหาว่า เธอถูกข่มขืนในขณะที่ไม่มีสติ หลังจากที่เธอเมาในคืนงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อธุรกิจ
เธอ กล่าวว่า เธอถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เธอดื่มมากเกินไปในระหว่างมื้อค่ำ และกล่าวอีกว่า เธอตื่นขึ้นมา ด้วยร่างที่เปลือยเปล่าในห้องพักที่โรงแรมของเธอ โดยที่ไม่มีความทรงจำอะไรเลยเกี่ยวกับเมื่อคืนที่ผ่านมา
ขณะที่ Alibaba แถลงว่า บริษัทได้ไล่ผู้จัดการคนดังกล่าวออกแล้ว และกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวจะไม่ถูกรับกลับเข้ามาทำงานใหม่อีก
มันคือเรื่องของ ‘ธุรกิจ
โดยเฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์ หมิงซีต้องไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานของเธอหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่ค่อยอยากที่จะทำ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่การหยิบเบียร์ 2-3 แก้วเท่านั้น แต่มันมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ เธอต้องฝืนยิ้มกับลูกค้า และดื่มอวยพรเป็นมารยาท และเธอไม่เคยรู้สึกสบายใจเลยสักครั้ง
“ฉันกังวลเสมอว่า จะมีบางสิ่งที่ฉันควบคุมไม่ได้ แม้ว่าฉันจะเป็นคนที่ดื่มเก่งมาก” ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ วัย 26 ปี กล่าวกับ BBC
“บางครั้งผู้คนมักจะพูดเรื่องตลกทางเพศอย่างไม่เหมาะสม และฉันต้องแกล้งทำเป็นว่าสนุกไปกับมัน”
ประสบการณ์ของเธอถูกแบ่งปันให้แก่หนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องถูกกดดันให้เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า ‘วัฒนธรรมกวนซี’ คือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาข้อตกลงทางธุรกิจ และให้อยู่ในสายตาของผู้บริหารระดับสูง
วัฒนธรรมอันเก่าแก่ในเอเชีย
วัฒนธรรมการดื่มทางธุรกิจของจีนมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเพื่อนบ้านในแถบประเทศเอเชียตะวันออกอย่าง ‘วัฒนธรรมโนะมิไก’ ของญี่ปุ่น, ‘วัฒนธรรมโฮซิก’ ของเกาหลี ซึ่งกุญแจสำคัญของการสังสรรค์คือการสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ในจีนเครื่องดื่มมักจะถูกจัดอยู่ในงานเลี้ยงหรูหรา โดยเฉพาะเหล้า ‘ไป๋จิ่ว’ ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์มากถึง 60% และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่งานเลี้ยง
บน Weibo มีกระทู้ที่ชื่อว่า “มุมมองต่อวัฒนธรรมการดื่มกับที่ทำงาน” ซึ่งตอนนี้มีผู้เข้าชมมากกว่า 110 ล้านครั้ง โดยผู้คนต่างเข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่ถูกกดดันให้ดื่มเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ
การปฏิเสธคือการกระทำที่ ‘หยาบคาย’
หนุ่มสาววัยทำงานหลายคนจะแสดงความเคารพด้วยการดื่มอวยพรแก่ผู้อาวุโส และนักธุรกิจคนอื่น ๆ ก็จะสร้างความประทับต่อลูกค้าด้วยการทำแบบเดียวกัน
“โดยทั่วไป คุณจะกล่าวคำสรรเสริญ, แสดงความจงรักภักดี และชื่นชมขอบคุณกับความสัมพันธ์นี้” หลุ่ย หม่า นักวิเคราะห์เทคโนโลยีที่เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อธุรกิจมากมายทั่วประเทศจีน
“แน่นอนว่ายิ่งคุณดื่มมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งเมามากขึ้นเท่านั้น และมันอยากที่จะปฏิเสธคำขอของหัวหน้าคุณ เนื่องจากลำดับชนชั้นในจีนนั้นแข็งแกร่งมาก” หม่า กล่าว
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานถึงไม่กล้าปฏิเสธคำเชิญในช่วงเริ่มแรก
“การปฏิเสธคำเชิญจะกลายเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพอย่างร้ายแรง และไม่มีพนักงานคนไหนที่อยากก้าวหน้าในอาชีพ จะกล้าปฏิเสธคำเชิญดังกล่าว” หลิว ฮันหยู่ นักวิเคราะห์การตลาดจากบริษัทที่ปรึกษา Daxue กล่าว
นอกจากนี้ หมิงซี กล่าวอีกว่า เธอกังวลว่าเธอจะถูกกีดกันจากที่ทำงานหากเธอไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์
“งานเลี้ยงพวกนี้มันสำคัญมาก บางคนใช้โอกาสนี้เป็นลู่ทางเข้าหาผู้บริหารระดับสูง แต่มันก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน” เธอ กล่าว
ประเพณีอันดีงาม?
เมื่อปี 2016 ทางการได้มีการออกระเบียบไม่ให้ข้าราชการดื่มแอลกอฮอลล์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ทว่าประเพณีเหล่านี้ ยังคงมีอยู่ในบริษัทเอกชนหลายแห่ง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในความดูแลของผู้บริหารระดับสูง และบ่อยครั้งก็จะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายพาดตามหัวข่าวต่าง ๆ
เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยคนหนึ่งเสียชีวิต หลังถูกบังคับโดยหัวหน้าของเขาให้เข้าร่วมการแข่งขันดื่มแอลกอฮอลล์ ระหว่างงานเลี้ยงของที่ทำงาน
ทั้งนี้ เพื่อนร่วมงานของเขาก็ถูกบังคับให้ดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไปในงานเลี้ยงนี้เช่นกัน จนเขาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากสุราเป็นพิษ
สื่อท้องถิ่น รายงานว่า บริษัทได้จ่ายเงิน 5,000 หยวน หรือราว 2.6 หมื่นบาท สำหรับค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ หัวหน้าคนดังกล่าวได้ลาออกไป
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว พนักงานธนาคารในกรุงปักกิ่ง ถูกด่าและถูกตบเข้าที่ใบหน้าอย่างแรง หลังจากปฏิเสธที่จะดื่มแอลกอฮอลล์จากพนักงานบริษัทที่อาวุโสกว่าในงานเลี้ยง
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจหลังจากที่เขาเล่าเรื่องนี้ลงในกลุ่มแชทออนไลน์ “เขาสังเกตเห็นว่าเพื่อนของเขาอาเจียนอย่างไร และพนักงานขี้เมาคนนั้นเข้ามาวอแวกับเพื่อนร่วมงานหญิงอย่างไร ในงานเลี้ยงสังสรรค์” ชายคนดังกล่าว เขียน
“ฉันต้องการถาม HR ว่า ฉันไม่มีความสามารถในการดื่ม จะไม่ตรงตามคุณสมบัติของบริษัทใช่ไหม?” เขา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารได้ออกมายืนยันแล้วว่าพนักงานอาวุโสคนดังกล่าว ได้ทำผิดกฎระเบียบของทางบริษัท และกล่าวขอโทษแทนเขา พร้อมได้ออกจดหมายเตือนและลดเงินเดือนของเขาเป็นการลงโทษ
ขณะที่ อีกคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศชื่อดังอย่างกรณีของ ‘คริส หวู่’ ที่ช่วงต้นปีมีการอ้างว่า เขาได้บังคับให้หญิงสาวคนหนึ่งดื่มแอลกอฮอลล์ระหว่างพบปะกัน โดยสัญญาถึงโอกาสในเส้นทางการทำงานของเธอ อย่างไรก็ตาม คริส หวู่ ได้ออกมาปฏิเสธถึงข้อกล่าวหาทั้งหมด
ใกล้ถึงเวลาอันล่มสลาย
เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยุคของการถูกบังคับให้ดื่มสุราอาจสิ้นสุดลงในไม่ช้า
“การดื่มเพื่อธุรกิจเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เหตุผลเดียวที่คดีของ Alibaba จุดชนวนให้เกิดการโต้กลับของสาธารณชนก็เพราะสื่อสังคมออนไลน์” หลิว กล่าวกับสำนักข่าว BBC
"คนจีนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันมาก และด้วยจำนวนคนออนไลน์ที่มากพอ พวกเขาสามารถโค่นล้มผู้คนและบริษัทต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว"
ท่ามกลางการคุมเข้มอย่างต่อเนื่องของรัฐในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบางแห่ง บริษัทต่าง ๆ จะระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการตรวจสอบจากรัฐบาล
“เมื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวล่าสุดระหว่างองค์กรกับพื้นที่ทางการเมืองของจีนแล้ว สิ่งสุดท้ายที่บริษัทต้องการก็คือ การอยู่ใต้ความสนใจ” หลิว กล่าว
หลังจากคดีของบริษัท Alibaba แดเนียล จาง CEO ของบริษัทให้ความมั่นใจกับพนักงานในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะ ‘ต่อต้านวัฒนธรรมการบังคับดื่มสุราอย่างเข้มงวด’
ไม่นานหลังจากนั้น กลุ่มเฝ้าระวังต่อต้านการทุจริตของจีนได้เรียกร้องให้ยุติประเพณีที่น่าขยะแขยง โดยแสดงความคิดเห็นในออนไลน์ว่า จะเสริมสร้างการกำกับดูแลบริษัทจีนให้ต่อสู้กับประเพณีดังกล่าว
“วัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานของจีนจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน” หลิว กล่าว