รีเซต

สธ.-หัวเว่ย จับมือพัฒนา 5G Healthcare หนุนการแพทย์ทางไกล

สธ.-หัวเว่ย จับมือพัฒนา 5G Healthcare หนุนการแพทย์ทางไกล
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 13:40 )
74

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วย “การศึกษาและพัฒนาระบบ 5G Healthcare” ระหว่าง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายเฉียน เหลียว รองประธานกรรมการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วม

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างมาก สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบคิว ระบบงานบริการของโรงพยาบาล ระบบส่งต่อ และการเชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพที่เป็น Big Data เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือ ความเชี่ยวชาญ และการใช้เทคโนโลยี 5G ระดับโลกจากหัวเว่ย ส่งผลให้บริการสุขภาพผ่านเครือข่ายดิจิทัลมีความเร็วสูง เกิดความครอบคลุมทั้งพื้นที่เขตเมืองและชนบท ลดช่องว่างให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทันเวลา และทันต่อเหตุการณ์ ถือเป็นการรองรับการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังต้องเข้มเรื่องรักษาระยะห่าง ดังนั้น กรมการแพทย์และหัวเว่ยจึงได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อศึกษาและและวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากระบบ 5G นำมาประยุกต์ใช้ในกิจการทางการแพทย์ และการให้บริการประชาชน โดยต้องขอบคุณความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีจากหัวเว่ย ที่ได้ให้การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์และทีมที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงมาทำงานร่วมกับกระทรวงฯ และกรมการแพทย์ที่สนับสนุนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ทุกที่ทุกเวลา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การศึกษาและพัฒนาระบบ 5G Healthcare ประกอบด้วย ระบบการแพทย์ทางไกล 5G และรถพยาบาล 5G ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.งานบริการทางการแพทย์ โดยหัวเว่ยสนับสนุนการออกแบบโซลูชั่นด้านสาธารณสุขสำหรับสถาบันทางการแพทย์ ส่งเสริมการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตทางการแพทย์ สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการแพทย์ทางไกล ส่วนกรมการแพทย์สนับสนุน แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ ให้บริการการแพทย์เคลื่อนที่ และการแพทย์ทางไกล กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ละเมิดนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ทำให้ลดภาระการเดินทาง ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงระบบการดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น

 

 

2. งาน 5G เทคโนโลยี บูรณาการใช้เทคโนโลยี 5G เข้ากับบริการทางการแพทย์ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลในระยะยาวทั่วประเทศไทย ตัวอย่างเช่น พัฒนารถยนต์ไร้คนขับ 5G เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางแพทย์ต่อการติดเชื้อ 3. งานบริการด้านคลาวด์ สำหรับการประยุกต์ใช้ AI มาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พัฒนาเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคโดยใช้AI เพื่อการรักษาและวินิจฉัยโควิด-19 ช่วยให้วินิจฉัยโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วภายใน 25 วินาทีต่อเคส ด้วยความปลอดภัย แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

4.งานส่งเสริมองค์ความรู้ในองค์กร โดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือทักษะที่สูงขึ้น ให้กับบุคลากรทั้งสองฝ่าย ผ่านการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และ 5.งานความร่วมมือกับภาครัฐบาล ร่วมกัน เพื่อค้นคว้า วิจัย และร่วมผลักดันระบบ 5G และบริการคลาวด์ในประเทศไทยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal Medical Services and Public Health) ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (personal-based medical services)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง