รีเซต

แผ่นดินไหวสามารถเปลี่ยนน้ำให้เป็น “ทองคำ” ได้ ?

แผ่นดินไหวสามารถเปลี่ยนน้ำให้เป็น “ทองคำ” ได้ ?
TNN ช่อง16
3 เมษายน 2567 ( 15:47 )
32

วันที่ 3 เมษายน 2024 เวลา 06.58 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.4 บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของไต้หวัน ตามรายงานของยูเอสจีเอส (USGS: United States Geological Survey) หน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดของไต้หวันในรอบ 25 ปี 


แต่รู้หรือไม่ว่า ในระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวบนโลกของเรา ขณะเดียวกันอาจเป็นกระบวนการที่จะเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นทองคำได้ ตามการศึกษาของนักวิจัยชาวออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ จีโอไซเอนซ์ (Nature Geoscience) ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2013


ทั้งนี้แร่ทองส่วนใหญ่ที่มนุษย์เราพบนั้น พบในสายแร่ควอตซ์ (Quartz Vein) ซึ่งก่อตัวขึ้นระหว่างที่ภูเขาก่อตัวเมื่อประมาณ 3,000 ล้านปี เมื่อในหินมีรอยแตก น้ำที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงแร่ทองก็จะไหลเข้าไปตกสะสมจนกลายเป็นสายแร่ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่าแผ่นดินไหวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระทบต่อแรงดันที่แตกต่าง จึงส่งผลต่อการก่อตัวของทองในสายแร่ ซึ่งในอดีตก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของมันมากนัก


แล้วแผ่นดินไหวสามารถเปลี่ยนน้ำให้เป็นทองคำได้อย่างไร ?

ดร. ดิออน เวเธอร์ลีย์ (Dion Weatherley) จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และศาสตราจารย์ริชาร์ด เฮนลีย์ (Richard Henley) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อดูว่าแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงต่าง ๆ ส่งผลต่อการแตกหักของหินที่มีของเหลวภายในอย่างไร 


จากนั้นอธิบายว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หินที่มีน้ำอยู่ด้านในจะเกิดรอยแตก ซึ่งจะทำให้แรงดันลดลงอย่างรวดเร็ว จนของเหลวภายในหินเกิดการขยายตัวและกลายเป็นไอ กระบวนการนี้เรียกว่าการกลายเป็นไอแบบแฟลช (flash vaporisation) ทำให้แร่ทองและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ในของเหลวตกตะกอนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการสะสมซิลิกา (สารประกอบหลักในแร่ควอตซ์) กับธาตุหลายชนิดจนกลายเป็นสายแร่ควอตซ์ที่อุดมด้วยทองคำในที่สุด


ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือใหญ่ มันล้วนส่งผลต่อกระบวนการนี้ โดยนักวิจัยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 2 สามารถทำให้รอยแยกในหินเพิ่มขึ้นได้ 130 เท่า ในขณะที่แผ่นดินไหวความรุนแรง 6 ทำให้รอยแยกในหินเพิ่มขึ้นได้ถึง 13,000 เท่าเลยทีเดียว 


ทั้งนี้แม้ว่าแผ่นดินไหวครั้งเดียวอาจไม่สะสมทองคำได้ในระดับที่มีนัยสำคัญ แต่หากเกิดแผ่นดินไหวติดต่อกันในพื้นที่เดียวกันก็อาจทำให้เกิดการสะสมของแร่ทองภายในรอยแตก จนในที่สุดก็มีความเข้มข้นมาก ๆ จนกลายเป็นทองคำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ากระบวนการนี้ทำให้เกิดแหล่งสะสมแร่ทองกว่า 80% บนโลกของเรา


ที่มาข้อมูล ABC, Nature

ที่มารูปภาพ Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง