รีเซต

สธ. เตรียมชง ศบค. ผ่อนคลายเปิด 3 กิจการ หลังล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์ ติดเชื้อเริ่มลด

สธ. เตรียมชง ศบค. ผ่อนคลายเปิด 3 กิจการ หลังล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์ ติดเชื้อเริ่มลด
ข่าวสด
26 สิงหาคม 2564 ( 13:32 )
30

สธ. เตรียมชง ศบค. ผ่อนคลายเปิด 3 กิจการ หลังล็อกดาวน์มา 4 สัปดาห์ติดเชื้อเริ่มลดลง เพิ่มมาตรการ COVID Free Program ผู้ให้บริการและลูกค้า

 

 

วันที่ 26 ส.ค.64 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเสนอมาตรการเพื่อเปิดบางกิจการ ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย รักษาหาย 20,606 ราย เสียชีวิต 229 ราย โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันของติดเชื้ออยู่ที่ 18,716 ราย และเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของการเสียชีวิตคือ 247 ราย

 

 

ภาพรวมหลังล็อกดาวน์มา 4 สัปดาห์กว่า สถานการณ์การติดเชื้อเป็นไปตามฉากทัศน์ที่วางไว้ คือ ผลของการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดติดเชื้อ 20-25% แต่ต้องติดตามไปอีกระยะ ต้องขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือปฏิบัติไม่ให้แพร่ระบาดรุนแรง เรากำลังเริ่มลดลงเล็กน้อย

 

 

ส่วนอัตราเสียชีวิตยังสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม 607 คือ ผู้สุงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค ทำให้การตายค่อนข้างสูงในแต่ละวัน แต่สามารถลดได้โดยเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนอยู่ ก็มีแค่ กทม.เท่านั้นที่ฉีดผู้สูงอายุได้ตามเป้าหมายกว่า 90% ที่ฉีดวัคซีน

 

 

ส่วนต่างจังหวัดอัตรายังต่ำ จึงต้องเร่งฉีดเพื่อกดการเสียชีวิตลงให้ลงมาอยู่ในประสิทธิผลการล็อกดาวน์ลดติดเชื้อ 25% ให้ได้ แต่ตัวเลขเริ่มดีขึ้น ก็เชื่อว่าจะลดลงต่อไป

 

 

"การติดเชื้อตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. มีการเร่งขึ้นมาของอัตราการติดเชื้อ และเร่งเพิ่มมามากๆ จนเราประกาศมาตรการทางสังคมหลายฉบับ เพิ่งจะเริ่มชะลอได้ ปัจจุบันกราฟผู้ติดเชื้อรายวันเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ขณะนี้กำลังค่อยๆ ลงมา

 

 

ซึ่ง กทม.และปริมณฑลก็มีลักษณะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และค่อยๆ ย่อตัวลงเช่นเดียวกับต่างจังหวัด ซึ่งหมายถึงว่าประเทศไทยขณะนี้น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มทิศทางค่อยๆ ลดลง ยังต้องขอความร่วมมือประชาชน กิจการต่างๆ ให้พยายามคงมาตรการ ให้ความร่วมมือรัฐบาล เพื่อให้การติดเชื้อไม่รุนแรงขึ้นเหมือนแต่ก่อน และพยายามไม่ให้เกิดสถานการณ์นี้อีกในอนาคต เราได้บทเรียนครั้งนี้ถือว่ารุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้าง" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

 

สธ.เสนอมาตรการ ตรึง-ลดติดเชื้อแต่ละวัน ไม่ให้เพิ่มขึ้นมาอีก

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.จะเสนอมาตรการที่จะทำให้เราสามารถตรึงและลดการติดเชื้อแต่ละวัน ไม่ให้เพิ่มขึ้นมาอีก เป็นการใช้มาตรการให้เราอยู่กับโควิดได้ โดย สธ.จะเสนอมาตรการต่อ ศบค.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 ส.ค. เพื่อให้กิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อยและมีความสำคัญดำเนินกิจการได้และต้องลดความเสี่ยงด้วย เช่น ร้านอาหาร กิจการกลางแจ้ง และการเดินทาง โดยต้องเพิ่มมาตรการไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งร้านอาหารต่างๆ จะรวมถึงในห้างสรรพสินค้าด้วย ส่วนรายละเอียดต่างๆ อยู่ที่การพิจารณาของ ศบค. ว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อไร แต่จะมีเวลาให้ได้เตรียมตัว

 

 

สำหรับมาตรการสำคัญในการรองรับเรื่องนี้ คือ Universal Prevention การป้องกันติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ป้องกันส่วนบุคคลอย่างสูงสุดตลอดเวลา ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะเมื่อออกไปภายนอกเราระวังกันมาก แต่กับคนใกล้ชิดคนรู้จักเราไม่ค่อยระวังตัว ลดการป้องกันตนเอง ไม่ใส่หน้ากาก รับประทานร่วมกัน อยู่ร่วมกันยาวนาน ทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน

 

 

จึงต้องคำนึงว่าเราและคนรอบตัวไม่ว่าสนิทแค่ไหน อาจมีเชื้อแฝงและแพร่ให้เราได้ หรือเราอาจแพร่ให้คนอื่น จึงต้องระวังตนเองตลอดเวลา ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรังหลีกเลี่ยงออกจากบ้าน เว้นระยะห่างคนอื่น 1-2 เมตรในทุกสถานที่ สวมหน้ากากตลอดเวลาทั้งในและนอกบ้าน เลี่ยงสัมผัสหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว กินร้อนปรุงสุกใหม่ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอในสถานประกอบการ เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ คือ COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention โดย COVID Free Program เป็นมาตรการประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.สถานประกอบการ (Setting) ต้องจัดสิ่งแวดล้อม เว้นระยะห่าง มีคิว ระบบระบายอากาศไม่ให้อากาศนิ่ง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานประกอบการลักษณะปิดหรือห้องแอร์

 

 

2.บุคคลในสถานประกอบการ คือ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (ลูกค้า) โดยผู้ให้บริการจะเป็นโควิดฟรี คือ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม , เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ถือว่ามีภูมิ หรือมีผลตรวจ RT-PCR หรือตรวจ ATK ว่าไม่มีโควิด โดยคนทำหน้าที่เสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน เสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน และบริการด้วยมาตรการป้องกันการติดเชื้อ

 

 

ส่วนลูกค้าที่ไปใช้บริการในระยะถัดไปนี้ จะต้องปราศจากเชื้อเช่นกัน โดยต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยต่อไปอาจมีบัตร หรือดิจิตัลการ์ดว่าได้รับวัคซีนครบ ถ้าทุกคนอยู่ในหมอพร้อมจะได้ใบรับรองการฉีดในระบบดิจิตัลและแอปพลิเคชันหมอพร้อม ถ้าไม่มีขอใบรับรองการฉีดครบก็ใช้ได้ ถ้ามีใบเหล่านี้ก็เข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวกใจ หรือคนเคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ขอใบรับรองแพทย์

 

 

แต่เมื่อจะพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีน ทำให้มีภูมิต่อไปได้ กรณีไม่ได้วัคซีนหรือไม่ได้ติดเชื้อก็ต้องเป็นโควิดฟรี โดยตรวจ ATK อาจตรวจเองที่บ้านหรือหน้าสถานประกอบการ ซึ่งบางที่อาจจะมีบริการ ถ้าทำแล้วผลลบ ผู้ประกอบการจะออกบัตรเหลืองให้ว่าไม่มีโควิด ก็ใช้บริการในสถานที่ประกอบการนั้นๆ ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยในการไปใช้บริการต่างๆ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ อย่างร้านอาหารก็ยังสามารถสั่งกลับบ้านได้

 

 

 

เสนอมาตรการ เปิด-ปิด

"ในส่วนของร้านอาหารเราเน้นในระบบปิด คือ ห้องปรับอากาศ โดยเราเสนอให้นั่งรับประทานอนุญาต 50% แต่รายละเอียดขึ้นกับ ศบค.พิจารณา โดยเวลาเปิดยังถึง 20.00 น.เหมือนเดิม ส่วนการเดินทางเราเสนอให้อนุญาตเดินทางได้ แต่อยู่ภายใต้มาตรการเข้มงวดดังกล่าว โดยเฉพาะสายการบินที่พยายามให้การเดินทางปลอดภัยที่สุด แต่การเดินทางโดยรถต้องมีมาตรการอื่น เพราะอาจยังทำไม่ได้เต็มที่" นพ.เกียรติภูมิกล่าวและว่า ส่วนการปรับสีพื้นที่ยังไม่ได้เสนอให้ปรับ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าสถานการณ์มีการติดเชื้อสูง แม้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จำนวนตัวเลขแต่ละวันยังอยู่ที่ 1.7-1.8 หมื่นราย ประชาชนตระหนักต้องรุนแรงอยู่ จะอนุญาตดำเนินการกิจการเท่าที่จำเป็น

 

 

ทั้งนี้ กิจการต่างๆ ถ้าเปิดแล้วต้องช่วยกันดูแล ไม่อยากให้ปิดอีก ขอให้ระลึกถึงการป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยมาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้บังคับ เป็นมาตรการแนะนำเบื้องต้นและจะเป็นมาตรฐานต่อไป ซึ่งหลังจากเปิดกิจการต่างๆ

 

 

อาจจะมีกิจการต้นแบบและใช้เป็นมาตรฐานในอนาคตต่อไป จะมีการกำกับติดตามเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งหลายกิจการเสนอตัวเข้ามาใช้ระบบนี้ จะได้รับการสนับสนุนจาก สธ. อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการแล้วประเมินแล้วว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจต้องกลับมาเข้มงวดตามเดิม

 

 

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายจากมาตรการตรวจด้วย ATK ประชาชนหรือสถานประกอบการต้องดำเนินการอย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK นั้น สำหรับประชาชนทำได้ 2 ทาง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หากมีการจัดซื้อ 8.5 ล้านชุดแล้วจะแจกจ่ายประชาชนได้ อีกส่วนคือเข้าถึงโดยหาซื้อได้ ขณะที่สถานประกอบการจะมีการนำเข้ามาเช่นกัน

 

 

ส่วนภาคราชการกำหนดให้ข้าราชการทุกคนสามารถใช้ชุดตรวจโควิดและเบิกภาครัฐได้ ส่วนการนำผลตรวจมาแสดงเพื่อเข้ารับบริการนั้น รายละเอียดวิธีการกรมควบคุมโรคและกรมอนามัยจะกำหนดต่อไป แต่จริงๆ อยากให้เป็นจิตสำนึกและวินัยแต่ละบุคคล เพราะไม่ได้เป็นเอกสารราชการ แต่เป็นการรับรอง ซึ่งถ้าเป็นเท็จและเกิดการแพร่เชื้อก็จะกลับมาลำบากกันหมดทั้งรัฐบาล กิจการ และประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง