รีเซต

7 วิธีรับมือ “อากาศร้อนจัด” เดือนมีนาคม-กลางพฤษภาคม ควรดูแลตนเองอย่างไร

7 วิธีรับมือ “อากาศร้อนจัด” เดือนมีนาคม-กลางพฤษภาคม ควรดูแลตนเองอย่างไร
TNN ช่อง16
26 มีนาคม 2565 ( 14:50 )
72
7 วิธีรับมือ “อากาศร้อนจัด” เดือนมีนาคม-กลางพฤษภาคม ควรดูแลตนเองอย่างไร

วันนี้ ( 26 มี.ค. 65 )ประเทศไทยเราจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อากาศร้อนอุณหภูมิอยู่ที่ 35.0 - 39.9 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะเป็นอากาศที่ร้อนจัด แต่บางครั้งต้องดูความชื้นในอากาศควบคู่กันไปด้วย ซึ่งมีผลต่อค่าอุณหภูมิที่วัดได้

วิธีรับมือเมื่อเผชิญกับอากาศร้อน เพื่อป้องกันสุขภาพและอันตรายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประชาชนควรดูแลตนเองด้วยดังนี้ 

1.ดื่มน้ำมากๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอจนรู้สึกกระหายน้ำ แต่ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยเหงื่อที่ถูกขับออกมาตามผิวหนัง ที่ช่วยระบายความร้อนให้แก่ร่างกาย และป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยปริมาณการดื่มน้ำที่เพียงพอสามารถสังเกตได้จากสีของปัสสาวะที่ยิ่งใสยิ่งดี ส่วนเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรป้อนนมให้บ่อยครั้งกว่าปกติ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำจากอากาศร้อน 

2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะสารเหล่านี้จะขจัดน้ำออกจากร่างกายได้มากกว่าปกติ โดยให้ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผสมน้ำตาลแทนได้ เพราะไม่เพียงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย แต่ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ในระหว่างที่เสียเหงื่ออีกด้วย 

3.สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับใส่ในสภาพอากาศร้อน คือ เสื้อสีขาวที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าลินินหรือผ้าฝ้าย ควรใส่แบบหลวมๆ เพื่อระบายอากาศได้ดี ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำเพราะจะดูดความร้อน 

4. การปกป้องผิวจากแดดร้อน ก่อนออกจากบ้านควรทาโลชั่นกันแดด สวมแว่นกันแดดและหมวกเพื่อปกป้องผิวหนังจากแดดร้อนและรังสียูวี 

5.หลีกเลี่ยงแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวันที่มีแดดจ้า เพื่อลดการเผชิญกับอากาศร้อน แสงแดด และรังสียูวีที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและร่างกาย 

6.จัดบ้านให้เหมาะกับสภาพอากาศ ด้วยการใช้ผ้าม่าน มู่ลี่ หรือม่านบังแดด หรือปลูกต้นไม้ในบ้าน เพื่อให้ร่มเงาด้วย 

7.ให้ผู้สูงอายุพกข้อมูลส่วนตัวและเบอร์ติดต่อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ตามลำพังหรือต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

กรณีฉุกเฉินที่เกิดจากอากาศร้อนและควรไปพบแพทย์ หากผู้ที่เป็นตะคริวแดดนั่งพักแล้วสักระยะ ดื่มน้ำและเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำได้ ร่วมกับมีอาการเพลียแดด วิงเวียน เมื่อยล้า ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเหนื่อยหอบอย่างรุนแรงมากขึ้น และมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 ซึ่งอาการเพลียแดด แม้จะมีความรุนแรงไม่เท่าโรคลมแดด แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่โรคลมแดดได้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสมองและอวัยวะอื่น ๆ หรืออาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรรีบพาผู้ที่เป็นโรคลมแดดไปโรงพยาบาลเพื่อให้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเร่งด่วน

ข้อมูลจาก : กรมประชาสัมพันธ์

ภาพจาก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง