ทะยานเรียบร้อย ! Virgin Galactic ส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรก
วันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท เวอร์จิน กาแลกติก (Virgin Galactic) ประสบความสำเร็จส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจำนวน 3 คน พร้อมนักบิน 3 คน ขึ้นสู่อวกาศ ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของบริษัทโดยใช้ภารกิจชื่อว่า กาแล็กติก 01 (Galactic 01) ภายหลังการทดสอบขนส่งนักท่องเที่ยวขึ้นสู่อวกาศอย่างเข้มงวดและได้รับการรับรองจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ภารกิจในครั้งนี้ใช้เครื่องบินขนส่ง VMS Eve และเครื่องบินอวกาศ VSS Unity
นักท่องเที่ยวอวกาศประกอบด้วย พ.อ. วอลเตอร์ วิลลาดี (Walter Villadei) กองทัพอากาศอิตาลี, พ.ต.ท. แองเจโล แลนดอลฟี (Angelo Landolfi) และปันตาเลโอเน คาร์ลุชชี (Pantaleone Carlucci) วิศวกรจากสภาวิจัยแห่งชาติของอิตาลี โดยในภารกิจครั้งจะมีการทดลองด้านวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย เช่น การทดสอบชุดนักบินอวกาศที่ตรวจสอบการตอบสนองของร่างกายมนุษย์ในสภาวะไร้น้ำหนัก
นักบินบนเครื่องบินอวกาศ VSS Unity ประกอบด้วยไมค์ มากุชชี (Mike Masucci)และนิโคลา เปซิล (Nicola Pecile) ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบินอวกาศ VSS Unity และคอลิน เบนเน็ตต์ (Colin Bennett) ทำหน้าที่ช่วยฝึกสอนและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอวกาศในห้องโดยสาร
รูปแบบการเดินทางขึ้นสู่อวกาศของเครื่องบินอวกาศ VSS Unity ตัวเครื่องจะถูกติดตั้งไว้กับเครื่องบินขนส่ง VMS Eve บินขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 50,000 ฟุต หรือ 15 กิโลเมตร ก่อนเครื่องบินอวกาส VSS Unity จะแยกตัวออกและติดเครื่องยนต์จรวดเดินทางขึ้นสู่อวกาศที่ระดับความสูงประมาณ 279,199.5 ฟุต หรือ 85.1 กิโลเมตร นักบินอวกาศจะมีเวลาอยู่บนอวกาศประมาณ 4-5 นาที ก่อนเดินทางกลับโลกในลักษณะการบินลงจอดของเครื่องบินบริเวณ Spaceport America ของบริษัทกลางทะเลทราย รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภารกิจกาแล็กติก 01 นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท เวอร์จิน กาแลกติก หลังใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเครื่องบินอวกาศนานกว่า 10 ปี รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินอวกาศ VSS Enterprise ตกในปี 2014 ซึ่งทำให้นักบินบาดเจ็บ 1 คน และเสียชีวิต 1 คน ส่งผลให้โครงการท่องเที่ยวอวกาศของบริษัทต้องได้รับการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยก่อนประสบความสำเร็จส่งเครื่องบินอวกาศ VSS Unity ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2018 อย่างไรก็ตามในตอนนั้นเป็นเพียงเที่ยวบินทดสอบเพื่อประเมินความปลอดภัย
ที่มาของข้อมูล engadget
ที่มาของรูปภาพ Virgin Galactic