กางพอร์ตธุรกิจ "BPP" ปี 68 ลุยโตตปท. สหรัฐฯ-จีน-อินโดนีเซีย
#ทันหุ้น - บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกือบ 30 ปี สร้างการเติบโตในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าในต่างประเทศเป็นหลัก
โดยปัจจุบัน BPP มุ่งสร้างสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 40 แห่ง กำลังผลิตทั้งหมด 3.6 กิกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุน และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์จากโครงการก๊าซธรรมชาติภายในปี 2030
โดยเน้นประเทศยุทธศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ จีน และอินโดนีเซีย สำหรับโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟในประเทศไทย มีโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ที่มีสัญญาซื้อขายระยะยาว PPA จ่ายไฟให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ โรงไฟฟ้า บีแอลซีพี จังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้าเอชพีซี ใน สปป. ลาว ที่เป็นกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของไทย บริษัทฯ มีความภูมิใจ ที่ 2 โรงไฟฟ้านี้ถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าที่มีการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือสูง (High reliability) และดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิตตามคำสั่งของกฟผ. (Base load power plant with full capacity dispatch) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการบริหารต้นทุนการผลิตโดยรวมของประเทศ (Cost effectiveness)
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ด้วยการสนับสนุนจากราคาพลังงานและความต้องการใช้พลังงานในสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของ AI และศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยในปี 2568 คาดว่าราคาซื้อขายไฟล่วงหน้าในตลาด ERCOT สำหรับปี 2568 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2567 อีกทั้ง บริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2567 รวมถึงการเติบโตของกำไรของโรงไฟฟ้าในจีนจากต้นทุนถ่านหินที่คาดการณ์ว่าจะลดลง และรายได้จาก Carbon Emission Allowance ดังนั้นแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายพลังงานภายในประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากการที่บริษัทมีฐานการดำเนินงานในหลากหลายประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสริมสถานะการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรองรับการขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 4%-6% ต่อปี ในขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ยังเติบโตต่อเนื่องโดยเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี”
ถึงแม้ในปัจจุบันมีปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจพลังงานกำลังเผชิญ อาทิ ความกังวลต่อนโยบายลดค่าไฟฟ้าหรือเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) ในอัตราขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม สำหรับ BPP นั้น นโยบายลดค่าไฟฟ้าในประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ และโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งที่จำหน่ายไฟฟ้าในไทยล้วนเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว PPA ขณะที่ Global Minimum Tax (GMT) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 มีผลกระทบจำกัดต่อ BPP เนื่องจากในประเทศหลักที่เข้าไปลงทุน ทางบริษัทฯ มีการจ่ายภาษีในอัตราที่มากกว่า 15% อยู่แล้ว จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้
“เราเชื่อว่าธุรกิจพลังงานจะยังคงมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนจำเป็นต้องใช้ รวมไปถึงเทรนด์พลังงานในอนาคตจะยิ่งเสริมให้ความต้องไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของ BPP จะยังคงมีความยืดหยุ่นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน (Balancing Growth and Sustainability) ทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน” นายอิศรากล่าว