"SCB CIO" แนะลงทุนหุ้นญี่ปุ่นรับอานิสงส์เลือกตั้ง
SCB CIO เจาะกลยุทธ์ลงทุน หนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีโอกาสสร้างผลตอบแทนลงทุนแบบ Trading buy คาดเลือกตั้ง 31 ตุลาคมนี้ พรรค LDP มีแนวโน้มครองเสียงข้างมาก และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตาหุ้นได้รับผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ กลุ่ม Digitalization จากโครงการ Digital garden city ในภูมิภาคต่างๆ และหุ้นกลุ่ม Infrastructure ได้รับแรงหนุนจากแผนการลงทุน 15 ล้านล้านเยนใน 5 ปีข้างหน้า
นางสาวเกษรี อายุตตะกะ, CFP? ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึง มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นว่า การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นจะมีขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หลังนายฟุมิโอะ คิชิดะ หัวหน้าพรรค LDP (Liberal Democratic Party) และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นโดยสำนักข่าวเกียวโดล่าสุด บ่งชี้ว่า ผู้ตอบรับแบบสอบถาม 29.6% ระบุว่า จะเลือกพรรค LDP ที่นำโดยนายคิชิดะ ส่วนพรรค Komeito ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรค CDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ได้เสียงสนับสนุน 4.7% และ 9.7% ตามลำดับ (ผู้ตอบแบบสอบถาม 39.4% ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด)
SCB CIO มีมุมมองว่า พรรค LDP ที่นำโดยนายคิชิดะ ยังมีแนวโน้มได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าพรรคฝ่ายค้านในภาพรวม เนื่องจากคะแนนความนิยมของพรรคฝ่ายค้านยังอยู่ในระดับต่ำ และมีความเป็นไปได้สูงที่พรรค LDP จะสามารถได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาล่างและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สามารถสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณใช้จ่ายส่วนเพิ่ม สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน (สิ้นสุด เดือนมี.ค. 2022) และอนุมัติงบใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณถัดไป ภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยขนาดของแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่นายคิชิดะ เคยอ้างถึงในช่วงก่อนหน้านี้ จะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านล้านเยน (คิดเป็น 5.5% ของ GDP) และมีแนวนโยบายที่เน้นเรียกร้องให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งและรณรงค์การลดช่องว่างของรายได้ เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาด เน้นประเด็นความมั่นคงกับเกาหลีเหนือและจีน รวมทั้ง เน้นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับชาติตะวันตก โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นเพิ่มเติม ดังนี้
สำหรับแผนการปรับขึ้นภาษีกำไรส่วนต่างจากการลงทุน (capital gain tax) บนรายได้ทางการเงิน จากปัจจุบันที่ระดับ 20% เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนของรัฐฯ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่นั้น ทาง SCB CIO มีมุมมองว่ารัฐบาลญี่ปุ่น จะยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับขึ้นอัตราภาษี เพื่อทำตามแผนการกระจายรายได้ในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาช่องว่างรายได้และความมั่งคั่งโดยรวมของญี่ปุ่นยังไม่น่ากังวล โดยสัดส่วนของความมั่งคั่งของประเทศ ที่ถือโดยผู้มั่งคั่งที่สุด 1% แรกของญี่ปุ่น อยู่ที่ 11% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD 27 ประเทศ และต่ำกว่าสัดส่วนดังกล่าวของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 42% หากการปรับขึ้นภาษี capital gain บนรายได้ทางการเงิน จากปัจจุบันที่อัตราคงที่ 20% มีผลบังคับใช้กับทุกคน โดยไม่ได้คำนึงถึงฐานรายได้ทางการเงิน อาจทำให้หักล้างนโยบายของทางการญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ ที่พยายามให้ประชาชนญี่ปุ่นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นแทนที่จะออมเงินอยู่ในเงินสดและเงินฝากเป็นหลัก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ประชาชนมีอายุยาวนานขึ้น และอาจมีความมั่งคั่งไม่เพียงพอ โดยปัจจุบัน สัดส่วนการลงทุนหุ้นต่อสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือนญี่ปุ่น อยู่ที่ 10% ต่ำกว่าของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 38% ในขณะที่ สัดส่วนการเงินสดและเงินฝากต่อสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือนญี่ปุ่น อยู่ที่ 54% สูงกว่าของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 13%
นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังไม่อยู่ในระดับที่จะสามารถกระจายรายได้ภายในประเทศได้ ทำให้ทางการญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องเน้นนโยบายที่จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก (pro-growth stance) ก่อนที่จะใช้นโยบายกระจายรายได้ ผ่านการปรับขึ้นภาษี โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา real GDP ของญี่ปุ่นขยายตัวได้เพียง 18% ต่ำกว่าของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวถึง 50%
ทั้งนี้ SCB CIO มองกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในภาพรวมยังมีความน่าสนใจลงทุนโดยเน้นกลยุทธ์ trading buy จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มสะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ตามที่พรรค LDP และพรรคร่วมรัฐบาลยังมีแนวโน้มครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภาล่าง จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง และช่วยหนุนเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยหากอิงจากสถิติในอดีตในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ดี โดยเฉพาะในช่วงหลังวันเลือกตั้งทั่วไป นอกจากนี้ จะพบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ตลาดฯ ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยค่อนข้างดี อยู่ระหว่าง 6%-15% อีกทั้ง ในปัจจุบัน ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากระดับ Valuation ของตลาดฯ ที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ (ดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 เทรด PE อยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี) ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นในไตรมาสล่าสุดยังมีแนวโน้มออกดีกว่าที่คาด และ EPS growth ของตลาดฯ ทั้งในปีนี้และปีหน้า มีแนวโน้มทยอยถูกปรับเพิ่มขึ้นต่อ นอกจากนี้ เรายังมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังได้อานิสงค์ต่อเนื่องจากเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ สรอ. การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และวัฏจักรการลงทุนโลก (global capex cycle) ที่เริ่มฟื้นตัว โดย SCB CIO ประเมินผลกระทบที่เป็นไปได้จากแนวนโยบายของนายคิชิดะ ต่อหุ้นญี่ปุ่นในรายอุตสาหกรรม พบว่า หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับ digitalization มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากข้อเสนอของนายคิชิดะ ที่จะสร้าง digital garden city ในภูมิภาคต่างๆ และหุ้นกลุ่มในธีม infrastructure มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากแผนการลงทุน 15 ล้านล้านเยน ตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ สำหรับนโยบายด้านการกระจายรายได้ ซึ่งค่อนข้างเป็นนโยบายระยะยาวมากกว่า อาจช่วยหนุนการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก