BEMชิงเพียบงานรัฐ ธุรกิจเติบโตครั้งใหม่
#BEM #ทันหุ้น – BEM เดินหน้าสร้าง New S-curve เล็งชิงมอเตอร์เวย์ 3 สายทาง รอความชัดเจน กทพ. เสนอครม.อนุมัติสร้าง Double Deck ทั้งยังรอ รฟม. เรียกเจรจาว่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ พร้อมเดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากชนะพร้อมเร่งดำเนินงาน มั่นใจวางระบบส้มตะวันออกทันกำหนด แต่งานส่วนตะวันตกอาจล่าช้าไม่เกิน 1 ปี
นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ใหม่ จึงเตรียมศึกษาเพื่อเข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐบาล ทางระบบถนน และระบบราง โดยจะยังคงเน้นงานที่กลุ่มบริษัทมีความชำนาญ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยงานระบบถนนที่เตรียมศึกษารายละเอียดโครงการประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ หรือ M8 ช่วงแรก นครปฐม-บางแพง (วังมะนาว) 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9 และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19 กิโลเมตร จุดเด่นของโครงการนี้ คือ แนวสายทางจะเชื่อมต่อกับเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษ สายศรีรัช ซึ่งบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการอยู่
สำหรับโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 งามวงศ์วานพระราม 9 (Double Deck) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาแนวทางและได้เสนอ ต่อกระทรวงคมนาคมไว้แล้ว เพื่อนำเข้าบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนซึ่งทาง กทพ. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment Report หรือ EIA ควบคู่ไปด้วย
“โครงการที่บริษัทให้ความสนใจ มีแผนที่จะทยอยเปิดประมูลภายในปี 2565 นี้ ซึ่งก็จะเข้ามาสร้างรายได้ - กำไรให้กับบริษัทในระยะกลาง - ยาว ทั้งนี้บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นศึกษาโครงการที่มีศักยภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการทางด่วนที่บริษัทบริหารจัดการอยู่ เพื่อจะสามารถบริหารจัดการค่าผ่านทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับ Double Deck นั้นก็คงรอให้ทาง กทพ. เป็นผู้แถลงข่าวอีกครั้ง”
พร้อมชิงส้ม ตะวันตก
ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อม เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เบื้องต้นคาดว่าทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะประกาศขายร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request For Proposal : RFP) ภายในไตรมาส 2/2565 นี้ เนื่องจากมีงานส่วนวางระบบเดินรถ และติดตั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วง “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” รวมอยู่ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชนะการประมูลเข้าดำเนินงานในส่วนดังกล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้นบริษัทในฐานะผู้รับสัมปทานงานเดินรถและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (คลองบางไผ่ – เตาปูน) (สายสีม่วง) (หมดสัมปทาน 2586) จาก รฟม. จึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับสัมปทานงานเดินรถและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้จาก รฟม. เฉลี่ยระหว่าง 1.5 – 2 พันล้านบาทต่อปี เบื้องต้นการก่อสร้างโครงการสายสีม่วงส่วนต่อขยายจะมีระยะเวลาประมาณ 5 ปี ดังนั้นค่าจ้างงานเดินรถและบำรุงรักษาโครงการดังกล่าว จึงมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าค่าจ้างในสัญญาเดิม
มั่นใจผู้โดยสารฟื้น
สำหรับปี 2565 บริษัทคาดการณ์รายได้ – กำไรของบริษัทจะฟื้นตัวใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีกำไรประมาณ 2 พันล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า จะฟื้นตัวขึ้นใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปี 2.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน และมีปริมาณการจราจรบนทางด่วนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1 ล้านคันต่อวัน
โดยปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายสีม่วงได้ รวมถึงการทยอยเปิดให้บริการโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง, และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งล้วนแต่จะสามารถส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกับบริษัทยังคงดำเนินงานตามนโยบายปรับลดต้นทุนการดำเนินงานในส่วนที่ไม่จำเป็นลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจระบบราง, ระบบทางด่วน ซึ่งต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงประมาณ 2 พันล้านบาท, และธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเน้นการบริหารจัดการเฉพาะภายในสถานี เป็นหลัก