มวลความเย็นกลางมหาสมุทรแอตแลนติกยังคงยืนหนึ่งสวนทางภาวะโลกร้อน
จุดรวมของมวลความเย็น (cold blob) ที่แปลกประหลาด ซึ่งบางทีเรียกกันว่า "รูโหว่ของภาวะโลกร้อนแอตแลนติกเหนือ" (North Atlantic warming hole) หมายถึงปรากฏการณ์ที่ทำให้ผิวน้ำและอากาศกลางมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ มีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา สวนทางกับแนวโน้มทั่วโลกซึ่งสถานที่ต่าง ๆ ล้วนแต่มีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน
มีการค้นพบความผิดปกติดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี 2015 แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะสามารถให้คำอธิบายถึงสาเหตุของมันได้ ในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature Climate Change ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่ามวลอากาศเย็นนี้ก่อตัวขึ้นและคงอยู่ได้ยาวนานแม้โลกจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจัยเรื่องกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป และการก่อตัวของก้อนเมฆในบริเวณนั้น
- กระแสน้ำในมหาสมุทรไหลเร็วขึ้น อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- พบมวลอากาศบริสุทธิ์สะอาดที่สุดของโลกเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติก
- มหาสมุทรดูดซับความร้อนของโลกไว้มากกว่าที่คาดถึง 60%
ทีมนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยา (MPI-M) ของเยอรมนี ได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงสภาพของภูมิอากาศโลกที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หากมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยหลายประการ ซึ่งผลการจำลองสถานการณ์ที่ได้ชี้ว่า กระแสน้ำที่ไหลเวียนเหมือนสายพานลำเลียงในมหาสมุทร อย่างกระแสน้ำ Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC ) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงดันของเกลือ อาจกำลังอ่อนแรงและไหลช้าลงจนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของผิวน้ำและมวลอากาศข้างบนเย็นตัวได้
ตามปกติแล้วกระแสน้ำ AMOC จะนำมวลน้ำอุ่นที่มีเกลือเข้มข้นจากเขตร้อนแถบอ่าวเม็กซิโก ให้ไหลขึ้นเหนือไปยังชายฝั่งของทวีปยุโรปส่วนที่เป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้เกิดการละลายกลายเป็นมวลน้ำเย็นที่มีเกลือเจือจางลง ซึ่งจะไหลเวียนกลับฝั่งทวีปอเมริกาและลงสู่ทิศใต้ต่อไป
แต่หากกระแสน้ำ AMOC ไหลช้ากว่าเดิม ก็จะทำให้น้ำเย็นสะสมตัวที่กลางมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือมากขึ้น จนเกิดเป็นมวลความเย็นประหลาดที่มีอุณหภูมิสวนทางกับภาวะโลกร้อนในบริเวณนั้น
กระแสน้ำที่เย็นลงยังทำให้เกิดก้อนเมฆระดับต่ำก่อตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งก้อนเมฆนี้จะช่วยสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ออกไป ทำให้ผิวน้ำและมวลอากาศในจุดดังกล่าวยิ่งมีอุณหภูมิต่ำลงไปอีก
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดว่า มีสาเหตุใดบ้างที่สามารถทำให้กระแสน้ำ AMOC อ่อนแรงและไหลช้าลงได้ จึงจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในมหาสมุทร