รีเซต

เจ็บหนักกว่าโควิด ผู้รับเหมาจ่อร้องป.ป.ช. ผวจ.ประจวบฯ เบี้ยวจ่าย 22 ล้าน ค่าสร้างถนน

เจ็บหนักกว่าโควิด ผู้รับเหมาจ่อร้องป.ป.ช. ผวจ.ประจวบฯ เบี้ยวจ่าย 22 ล้าน ค่าสร้างถนน
มติชน
23 สิงหาคม 2564 ( 10:44 )
196
เจ็บหนักกว่าโควิด ผู้รับเหมาจ่อร้องป.ป.ช. ผวจ.ประจวบฯ เบี้ยวจ่าย 22 ล้าน ค่าสร้างถนน

เจ็บหนักกว่าโควิด บริษัทรับเหมาจ่อร้อง ป.ป.ช. หลังประจวบฯ เบี้ยวจ่าย 22 ล้าน ก่อสร้างถนนเลียบหาด

 

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายนิวัฒน์ ศิริวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท เอ ซี เอ็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่าได้ยื่นเอกสารร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรณีบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานจังหวัด ก่อสร้างโครงการปรับปรุงถนนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เส้นทางบ้านทุ่งมะเม่า-บ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อำเภอเมืองฯ ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบ 37. 5 ล้านบาท มีผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ในสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 แต่หลังจากทำงานเสร็จนานกว่า 5 เดือน ยังไม่จ่ายเงินค่างวด รวมกว่า 22 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันถนนดังกล่าวเปิดให้รถยนต์วิ่งสัญจรแล้ว

 

 

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหางบประมาณค้างจ่ายค่างวดตั้งแต่เมษายน 2564 ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง นอกเหนือผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าแรง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกเงินค่างวดได้ เมื่อสอบถามไปที่ ผอ.กลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายและเป็นเจ้าของโครงการ ได้รับการชี้แจงว่าสาเหตุที่จ่ายเงินไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้กันงบที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือเอาไว้ จากความผิดพลาดในการลงระบบงบประมาณของเจ้าหน้าที่ และต้องสอบถามไปกรมบัญชีกลาง

 

 

โดยแจ้งว่าจะหาเงินงบประมาณส่วนอื่นมาเบิกจ่ายให้ต่อไป ขณะที่บริษัทรับเหมารายอื่นที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน ได้รับการเบิกจ่ายงบแล้ว หากไม่มีความคืบหน้าบริษัทจะยื่นร้องต่อ ปปช.ต่อไป

 

 

ด้านแหล่งข่าวจากข้าราชการระดับสูง ศาลากลางจังหวัด ระบุว่า สำหรับสาเหตุของความผิดพลาดในระบบงบประมาณ เกิดจากพนักงานราชการรายหนึ่งทำหน้าที่ทดแทนพนักงานที่ถูกแจ้งดำเนินคดีทุจริตงบสำนักงานจังหวัด 40 ล้านบาท ทำระบบคืนเงินงบประมาณโครงการผิดพลาดในระบบ ทำให้มีปัญหาในการเบิกจ่ายค่างวดเนื่อง จากต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ

 

 

“ หลังจากลูกจ้างหญิงอายุ 29 ปี ยักยอกเงินกว่า 40 ล้านบาทเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 จากการโอนเงินผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเลคทรอนิคส์ หรือ GFMIS โอนเข้าบัญชีส่วนตัวไปเล่นการพนันออนไลน์ ทำให้มีผู้รับเหมาหลายรายแจ้งให้ทนายความ ยื่นเอกสารเพื่อขอคืนเงินค่าค้ำประกันงานจากงบที่มีการทุจริต หลังครบกำหนดจ่ายคืน แต่จังหวัดยังไม่มีงบเบิกจ่าย ขณะที่หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้างานการเงิน และข้าราชการหลายราย ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางวินัยร้ายแรงโดยกระทรวงมหาดไทยนานกว่า 1 ปี แต่ยังไม่มีข้อสรุป” แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง