เปิดงานยิ่งใหญ่ 'มหกรรมยางพารา 2564' รมว.เกษตรฯ ชู 'นวัตกรรม' เพิ่มมูลค่า ดันยางไทยผงาดยืน 1 โลก
เมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. วันที่ 9 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา พร้อมด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการจัดงาน
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ 6.2ล้านไร่เศษ เป็นพื้นที่ปลูกยางพารา 1.88 ล้านไร่เศษ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมปีหนึ่งประมาณ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี เป็นภาคเกษตรปีละประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท พื้นที่ที่ปลูกยาง 1.88 ล้านไร่เศษ ให้ผลผลิตประมาณ 4 แสนตัน มีรายได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เรามีโรงงานที่จดทะเบียน 100 ล้านขึ้นไปในการแปรรูปยางพาราประมาณ 5 โรงงานด้วยกัน ยางพาราเริ่มต้นที่ภาคใต้เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วที่นครศรีธรรมราช แม้ไม่ใช่เมืองหลวงก็เป็นมหานครของยางพารา จิตวิญญาณของภาคใต้สร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้พี่น้องชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เป้าหมายของการยางแห่งประเทศไทยในการเป็นองค์กรชั้นโลกระดับสากลในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องยางพารา ตามวิสัยทัศน์และภารกิจที่ตั้งไว้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งกับสถาบันเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งให้ผู้ประการกิจการยาง นโยบายต่างๆได้รับการสนับสนุน และได้รับการผลักดันที่ดีมาโดยตลอดโดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“การยางแห่งประเทศไทยต้องกล่าวขอบคุณท่านอีกครั้ง ที่วันนี้ที่กรุณาสละเวลามาเป็นประธานในการเปิดมหกรรมยางพาราในวันนี้ และให้การสนับสนุนนโยบายของการยางของเรามาตลอด ทำให้วันนี้ กยท. มีส่วนร่วมการจัดงานนครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมและการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรภายใต้มาตรการป้องกันการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19” นายณกรณ์ กล่าว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานในหัวข้อ ‘นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่’ ว่า ปีนี้เป็นปีทองของพี่น้องชาวสวนยาง แม้จะประสบวิกฤต แต่ด้วยแนวนโยบายและความสามารถในการบริหารงานของ กยท. ทำให้สามารถรักษาระดับเสถียรภาพของยางพาราให้มีราคาดีที่สุดในรอบหลายปี และยังคงยืนราคาตรงนี้ได้ อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การทำงานขององค์กรต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากเอกชน ผู้ประกอบการ และพี่น้องชาวสวนยาง ทั้งหมดเพื่อให้ชาวสวนยางได้ราคายางที่พึงพอใจและอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พอใจเท่าใดนัก เพราะต้องการให้ราคายางสูงขึ้นอีก เนื่องจากคุณค่าและมูลค่ายางพาราของไทยสูงกว่านี้ ยางพารามีประโยชน์สารพัดอย่าง
“วันนี้สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาเสถียรภาพ และทำให้ยางพารามีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ อันดับแรก คือ พี่น้องเกษตรกรที่ต้องดูแลรักษาคุณภาพของน้ำยาง กยท. เป็นพี่เลี้ยงและดูแลการบริหารในภาพรวมเท่านั้น
“การที่เราจะเพิ่มมูลค่ายางพารา ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแปรรูป ต้องเป็นความร่วมมือของ กยท. ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ที่ต้องจับมือกัน ผมพูดตลอดเวลาว่า อยากเห็นพี่น้องผู้ประกอบการรวยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เพราะถ้าท่านรวย พี่น้องชาวสวนยางของผมต้องได้รับด้วย ท่านรวยคนเดียวอยู่ไม่ได้ ดังนั้น วันนี้นโยบายของเรา คือ การผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ส่วนต่างๆ มาเพิ่มมูลค่ายางพารา” นายเฉลิมชัยกล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า อยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก มั่นใจว่าเรามีศักยภาพ ยางพาราของไทยมีคุณภาพที่สุดในโลก ตราบใดที่ตนยังเป็นรัฐมนตรี ต้องผลักดันให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงยางพาราให้ได้ ไม่ใช่แค่คนนครศรีธรรมราชได้ประโยชน์ แต่ทุกจังหวัดที่ปลูกยางจะได้รับตรงนี้หมด จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น และผลทั้งหมดจะตกกับเกษตรกรชาวสวนยาง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ยางพารา 1 กิโลกรัม เกิน 100 บาทแน่นอน ตนในฝ่ายการเมืองก็กำกับดูแลผลักดันเต็มที่ ส่วน กยท. ก็กำหนดแนวทาง ทุกฝ่ายต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เงินในกระเป๋าพี่น้องชาวสวนยางเพิ่มขึ้น
“กยท. ยังต้องดูเรื่องสวัสดิการให้ชาวสวนยาง พี่น้องชาวสวนยางหลายคนอาจไม่ทราบว่า กยท. มีประกันต่างๆ จึงอยากให้ประชาสัมพันธ์ และอยากให้บอร์ด กยท. ลองดูว่า มีอะไรที่ช่วยเหลือเพิ่มได้อีก เพราะขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากพี่น้องชาวสวนยางมีขวัญและกำลังใจ ก็จะมีกำลังใจในการทำงาน ผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพ และจะเปลี่ยนแปลงวงการยางได้
เราเริ่มเห็นสิ่งนี้แล้ว และจะเริ่มเดินไปข้างหน้า เราเดินมาถูกต้องแล้ว จากนี้ต้องทำให้มูลค่าของยาง ผลิตผลของยางมีราคาสูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงของพี่น้องทั้งหมด เราอาจสะดุดนิดหน่อยจากสถานการณ์โลก และภาวะโควิด แต่ผมเชื่อมั่นว่า เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้”
หลายคนถามว่า ผมเป็นรัฐมนตรี กล้าพูดว่าเอื้อผู้ประกอบการหรือ ผมเรียนว่า ถ้าเราบริสุทธิ์ใจและทำให้พี่น้องมีรายได้มากขึ้น ผมก็ทำ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดในฐานะรัฐมนตรี และจะพาอุตสาหกรรมยางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ผมยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ก็จะรักษาราคายางให้มีเสถียรภาพที่สุด ขอให้มั่นใจ เชื่อใจ ในการทำงานเป็นทีม ทั้ง กยท. และข้าราชการเกษตรทุกกลุ่ม ทุกกรม” นายเฉลิมชัยกล่าว
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย พร้อมด้วย นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช, นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมทำพิธีเปิดงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา อย่างเป็นทางการ ด้วยการวางมือสัมผัสที่แท่นพิธีเปิด โดยผู้ร่วมงานร่วมกันนับถอยหลังอย่างกึกก้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าว มีการมอบรางวัลต่างๆ สำหรับผู้ชนะการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ทั้ง 5 รางวัล ได้แก่
รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 นายสมร ศรีดี จากการยางแห่งประเทศไทย จ.บึงกาฬ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นายภิญโญ ฉิมปากแพรก จากการยางแห่งประเทศไทย จ.ชุมพร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายราวี ไชยสุข จากการยางแห่งประเทศไทย จ.บึงกาฬ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชย ได้แก่ นายสุรเขตต์ สุวัตถี จากการยางแห่งประเทศไทย จ.กำแพงเพชร และนายวาลี อูเซ็ง จากการยางแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย รับเงินรางวัลคนละ 5,000 บาท
สำหรับผลการประกวด ‘ยางแผ่นดิบคุณภาพดี’ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นายทวีศักดิ์ แซ่ลิ่ม จาก กยท.จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นายทิวาชัย สังข์เมฆ จาก กยท.จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางดรุณี นุ่นสกุล จาก กยท.จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลชมเชย ได้แก่ นางทัศนา ฝอยทอง จาก กยท.จ.นครศรีธรรมราช และนายชาญชัย วิโนทัย จาก กยท.จ.ชุมพร รับเงินรางวัลละ 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร