ไขปริศนา “แมลงสาบ” พิชิตโลกได้อย่างไร
เพราะอะไรแมลงสาบ ถึงกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการยึดครองโลกใบนี้ได้ นี่คือเส้นทางสู่การเป็นผู้ชนะของพวกมัน
---นักวิจัยพบแมลงสาบเคยอยู่แต่ในเอเชีย---
ผลการศึกษาล่าสุด ที่เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า แมลงสาบ มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์สำคัญของโลก อย่างไม่น่าเชื่อ ตามการรายงานของ CNN
ใครจะไปคิดว่า การเดินทางของพวกมัน เชื่อมโยงกับการล่าอาณานิคม และสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับแต่ยุคการกวาดล้างอารยธรรมเอเชียโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน
เรื่องนี้ต้องเริ่มอธิบายจาก หนึ่งในสายพันธุ์ของแมลงสาบที่พบมากที่สุดในโลก นั่นคือ “แมลงสาบเยอรมัน” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Blattella germanica” เป็ยสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก มันถูกบันทึกทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในยุโรปเมื่อประมาณ 250 ปีที่แล้ว
ดร.เฉียน ถัง ผู้นิพนธ์งานวิจัยชิ้นนี้พร้อมทีมงาน ได้เก็บตัวอย่างแมลงสาบเยอรมันทั้งหมด 281 ตัวอย่าง จาก 17 ประเทศ ใน 6 ทวีปทั่วโลก เพื่อค้นหาว่าทำไมแมลงสาบถึงได้แพร่กระจายไปทั่วโลก พร้อมศึกษาวิวัฒนาการของพวกมัน
การศึกษาค้นพบว่า สายพันธุ์ของแมลงสาบในยุคปัจจุบัน มีประวัติย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 18 ในยุโรป และเชื่อไหมว่า แมลงสาบเยอรมันมีวิวัฒนาการมาจาก “แมลงสาบเอเชีย” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Blattella asahinai” เมื่อประมาณ 2,100 ปีที่แล้ว
ถัง และทีมวิจัย คาดว่า แมลงสาบอาจเคยอาศัยอยู่แค่ในโซนเอเชีย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นั้น น่าจะเป็นบริเวณอินเดีย และเมียนมา ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังทั่วโลก
---ออกเดินทางเพื่อครองโลก---
ช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อกว่า 2,100 ปีก่อน ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว เริ่มทำการเกษตรตรงบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงสาบเอเชีย จึงทำให้แมลงเหล่านี้ ปรับตัวให้ตนเองสามารถกินอาหารของมนุษย์ได้ และเมื่อกินอาหารของมนุษย์ได้ พวกมันจึงสามารถที่เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของมนุษย์ได้เช่นกัน
ต่อมาอีก 1,000 ปี ในช่วงที่การค้า และกิจกรรมทางทหารของมนุษย์ขยายตัวขึ้นระหว่างพื้นที่เอเชียตอนใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป แมลงสาบก็ได้เริ่มแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของทางชาติตะวันตก ซึ่งคาดว่า พวกมันอาจจะติดไปกับกล่องอาหารกลางวันของเหล่านักเดินทาง หรือ กองทัพ
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของทีมวิจัย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า แมลงสาบเหล่านี้ เข้ามาในยุโรปครั้งแรก เมื่อประมาณ 270 ปีที่แล้ว การคาดการณ์ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับตอนที่ ‘คาร์ล ลินเนียส’ นักธรรมชาติวิทยา ชาวสวีเดน ได้บรรยายถึงลักษณะของแมลงพวกนี้เป็นครั้งแรกในปี 1776 หลายสิบปีหลังเกิดสงคราม 7 ปี ที่ลุกลามไปทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ
ในเวลาต่อมา เมื่อแมลงสาบกระจายเข้าสู่ยุโรปแล้ว จึงได้เดินทางเข้าสู่อเมริกาเมื่อราว 120 ปีที่แล้ว
“แมลงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางวัฒนธรรมมนุษย์” เจสสิกา แวร์ ภัณฑารักษ์ด้านสัตววิทยาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน กล่าวกับ CNN
แวร์ กล่าวว่า เป็นเวลานานมากแล้ว ที่เรารู้ว่า ผู้คนได้เคลื่อนย้ายสัตว์รบกวนหลากหลายชนิดไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และรู้ด้วยว่า เส้นทางการค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอาจเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของแมลงสาบเยอรมัน
“สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้า เช่น ระบบประปา ระบบทำความร้อนภายในอาคาร ล้วนทำให้แมลงสาบเจริญเติบโตได้ดี” แวร์ กล่าว
---แมลงสาบสะท้อนความสัมพันธ์มนุษย์---
ผลการศึกษา พบว่า ยีนส์ของแมลงสาบเยอรมันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น แมลงสาบเยอรมันในสิงคโปร์และออสเตรเลียจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมลงสาบในสหรัฐฯ มากกว่าประชากรแมลงสาบเยอรมันตัวอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซีย
พฤติกรรมดังกล่าว อาจเป็นเพราะว่า ในอดีตสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสิงคโปร์ และออสเตรเลีย มากกว่าอินโดนีเซีย
“เป็นการยกตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ในการเชื่อมโยงกิจกรรมมนุษย์, การค้า, สงคราม, การล่าอาณานิคม กับการแพร่กระจายและการปรับตัวของแมลงสาบ” โคบี ชาล นักกีฏวิทยาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงสาบแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต และยังเป็นผู้นิพนธ์วิจัยร่วม กล่าว
---แมลงสาบ ผู้ฆ่าไม่ตาย---
แมลงสาบเยอรมัน เป็นสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งมากกว่า สายพันธุ์อื่น ๆ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แมลงสาบสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเพราะ พวกมันมีการต้านทานยาฆ่าแมลงได้ ซึ่งยีนส์นี้ไม่พบในสัตว์รบกวนชนิดอื่น ๆ
ผลการทดลองก่อนหน้านี้ จากห้องทดลองของชาล เปิดเผยว่า หลังจากหลายปีที่ทีมวิจัยหลอกล่อให้แมลงสาบทานกลูโคสที่ชุ่มไปด้วยยาพิษ เขาพบว่า ประชากรแมลงสาบที่รอดจากการทานยาพิษนั้น จะให้กำเนิดแมลงสาบสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถปฏิเสธการกินของหวานได้
หลังจากนี้ ดร.ถัง ต้องการเรียงลำดับจีโนมที่สมบูรณ์ของตัวอย่างนับร้อยของเขา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมว่า แมลงสาบประสบความสำเร็จในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ได้อย่างไร
“จากตัวอย่าง แมลงสาบเยอรมันสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงได้ ซึ่งไม่พบในสัตว์รบกวนชนิดอื่น ๆ...พวกมันวิวัฒนาการตัวเองอย่างรวดเร็วได้อย่างไร? มันเป็นสิ่งที่อยู่ในยีนส์ของพวกมันอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนาเพราะเผชิญแรงกดดันของมนุษย์หรือเปล่า” ดร.ถัง กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/german-cockroaches-genetics-history-world
https://edition.cnn.com/2024/05/27/world/german-cockroach-origins-scn/index.html