กรอ.ลุยตรวจคลองแสนแสบ 21 เขต พบโรงงานดัง ย่านลาดพร้าว ปล่อยน้ำทิ้งเกินมาตรฐาน
กรอ.ร่วม 8 หน่วยงานลุยตรวจคลองแสนแสบ 21 เขต พบโรงงานดัง ย่านลาดพร้าว ปล่อยน้ำทิ้งเกินมาตรฐาน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ. 2564-2574) ซึ่งเป็นการบูรณาการงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ โดย กรอ. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบโรงงานบริเวณคลองแสนแสบจำนวน 240 แห่ง ทั้งที่มีการระบายน้ำทิ้งและไม่มีการระบายน้ำทิ้ง พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในพื้นที่ 21 เขต ได้แก่ ดุสิต ราชเทวี ปทุมวัน ดินแดง ห้วยขวาง วัฒนา จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ มีนบุรี คันนายาว สะพานสูง คลองสามวา บึงกุ่ม หนองจอก และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินคดีกับโรงงานที่ระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขทันที เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้น้ำทิ้งจากโรงงาน ทำลายคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ
จากการตรวจสอบโรงงานทั้ง 240 แห่ง พบโรงงาน 2 แห่ง ระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ บริษัท มอลล์ อินเตอร์-พริ้นท์ จำกัด เขตสวนหลวง มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) 9.3 (ค่ามาตรฐาน 5.5-9.0) และค่าซีโอดี 414 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร) และบริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จำกัด เขตลาดพร้าว มีค่าบีโอดี 2,216 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร) ค่าซีโอดี 4,020 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 120 มิลลิกรัมต่อลิตร) และค่าของแข็งแขวนลอย 125 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร) กรอ. จึงได้สั่งการให้โรงงานทั้ง 2 แห่งปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบำบัดน้ำเสียทั้งหมด เมื่อโรงงานปรับปรุงแล้วเสร็จ กรอ. จะดำเนินการเก็บน้ำทิ้งเพื่อตรวจวัดวิเคราะห์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด และจะเร่งดำเนินคดีกับทั้ง 2 โรงงาน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
“ขณะนี้ กรอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนการตรวจโรงงานขนาดเล็ก (โรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2) บริเวณคลองแสนแสบ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 5 เมษายน 2565 จำนวน 62 โรงงาน เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในภารกิจการกำกับดูแลโรงงานที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รวมถึงเพื่อให้คำแนะนำกับโรงงานให้สามารถประกอบกิจการโรงงานได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผลการตรวจสอบโรงงานขนาดเล็ก เบื้องต้นพบว่าโรงงานปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย และยังไม่พบการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแสนแสบ ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย