รีเซต

มาดามมาย คือใคร? สะท้อนปัญหากู้หนี้-ยืมสิน 'คนที่ไว้ใจ...ร้ายที่สุด'

มาดามมาย คือใคร? สะท้อนปัญหากู้หนี้-ยืมสิน 'คนที่ไว้ใจ...ร้ายที่สุด'
TeaC
23 สิงหาคม 2564 ( 11:53 )
593
1

มาดามมาย คือใคร? กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างมาก หลังเกิดเหตุสลดนักศึกษาาปริญญาโท มหาลัยชื่อดัง ฆ่าตัวตายคาห้องพักอพาร์ตเมนต์ ปมเครียดถูกเพื่อนสนิทเป็นติวเตอร์สาวประเภทสองคนดังโลกโซเชียล “มาดามมาย” ให้กู้เงินนอกระบบมาให้แล้วหนีหนี้ไปไม่ใช้คืน รวมยอดเงินทั้งต้นและดอก 97,800 บาท ทั้งนี้ เขาไม่ไหวที่ต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยอาทิตย์ละ 12,000 บาท สุดท้ายโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อก่อนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ด้านพ่อสุดเศร้ารับศพลูกชาย ลั่นต้องไม่ตายฟรี คนที่เป็นต้นเหตุต้องรับผิดชอบ 

 

และเหตุการณ์เศร้าสลดดังกล่าวไม่เพียงสร้างความสูญเสียต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาการกู้หนี้ยืมสิ้น เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่านประสบการณ์ที่คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนสนิท เพื่อนรัก หรือคนใกล้ชิดอีกมากมายขอให้เราช่วยเหลือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ตั้งแต่ขอยืมเงิน ขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ขอให้ช่วยกู้เงินแทนให้ ขอให้ช่วยกดเงินจากบัตรกดเงินสด อ้อนวอนสารพัดด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ลำบากมาก และปิดท้ายรับปากดิบดี 

 

แต่สุดท้าย "คนที่ไว้ใจ...ร้ายที่สุด"

 

หลายคนที่ช่วยเหลือ "โชคดีหน่อยก็ได้เงินคืน โชคร้ายก็ใช้หนี้แทน" แต่ที่ปรากฎเป็นข่าวมักจะไปในแง่ต้องใช้หนี้แทน บางคนถึงกลับล้มทั้งยืน ถูกเจ้าหนี้ตามทวง ต้องชดใช้ สุดท้ายฆ่าตัวตาย เพราะไถ่ถามหาเงินของตัวเองกลับถูกคนที่ไว้ใจนิ่งตายใส ขาดจิตสำนึกที่จะคืนเงิน อ้างอย่างเดียว "ฉันก็ลำบาก" "ฉันก็ไม่มีจะกิน" "ฉันอยู่ไปวัน ๆ " แต่ไม่เคยคิดจะร่วมแก้ปัญหา ไม่คิดทยอย สะท้อนขาดจิตสำนึกและขาดความรับผิดชอบ

 

แม้ว่าการช่วยเหลือจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจช่วยใครทันที "หยุดคิดสักนิด" ก่อนจะมานั่งเสียใจภายหลังเพียงเพราะความหวังดีที่กลับมาทำร้ายตัวเราเองที่ต้องเป็นหนี้แทนคนอื่น

 

- เงินเก็บ 200,000 บาท กว่าจะเก็บออมเงินได้ใช้เวลากี่ปี

- ให้เงินยืมเงินเก็บ จะหาได้เหมือนเดิมเท่านี้ไหม

- นึกถึงตอนที่เราไม่มีเงิน ไม่มีใช้ลำบากขนาดไหน

- พ่อแม่แก่ขึ้นทุกวัน ไม่มีแรงทำงาน ขาดรายได้ ให้คนอื่นยืมเงิน เขาจะกินอะไร

- โควิดทำร้ายทุกคน ไม่ใช่คนที่ยืมเงินเราเพียงคนเดียว

 

ดังนั้น วันนี้ TrueID มีวิธีการป้องกัน เพื่อรับมีกับเหตุการณ์ไหนบ้างที่อาจทำให้เราเป็นหนี้แทนคนอื่น เช่นเดียวกับกรณีมาดามมาย จะได้ไม่เสียใจกันทีหลัง

 

กู้เงินมาเพื่อให้ยืมต่อ

 

บีได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนสนิทที่ชื่อ "จูน" ให้ยืมเงินจำนวน ุ67,000 บาท เพื่อใช้หมุนเงินในธุรกิจ รับปากว่าจะคืนเงินทั้งหมดในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งบีไม่มีเงินเก็บมากขนาดนั้น แต่อยากช่วยเพื่อนเพราะเห็นว่าคบหากันมานาน จึงบอก "จูน" ว่าจะกดเงินจากบัตรกดเงินสดของตัวเองมาให้ "จูน" แล้วให้ "จูน" โอนเงินมาให้ทีตามยอดจากใบแจ้งหนี้ในสิ้นเดือนนี้

 

ต่อมา บีได้รับใบแจ้งหนี้จากบัตรกดเงินสดให้ชำระหนี้ ได้ติดต่อจูนให้โอนเงินมาให้ที จากเดิมที่จูนตกลงรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะโอนเงินคืนทั้งหมด กลับโอนมาแค่ 15,000 บาท ช่วงแรกใช้หนี้สม่ำเสมอ แต่พอจูนเริ่มมีปัญหาส่วนตัว จึงเงียบเริ่มไม่รับโทรศัพท์ เริ่มไม่ติดต่อกลับ และไม่ใช้หนี้ สุดท้ายบีเลยเดือดร้อนที่ต้องใช้หนี้แทนทุกเดือน 

 

กู้แทนคนอื่น

 

ก้องมีน้องสาวชื่อกิ๊บ กิ๊บเป็นเด็กจบใหม่เพิ่งเข้าทำงานรายได้จึงยังไม่สูง แต่กิ๊บใฝ่ฝันอยากจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองเพื่อขับไปทำงาน และคอยรับส่งพ่อกับแม่ จึงไปยื่นขอสินเชื่อรถกับสถาบันการเงินแต่ไม่ผ่าน กิ๊บจึงไปขอร้องก้องให้กู้ซื้อรถยนต์เป็นชื่อก้องแทน โดยสัญญาว่าจะผ่อนชำระค่างวดในแต่ละเดือนให้ ก้องตกลงตามที่กิ๊บขอ แต่พอผ่านไป 6 เดือน เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อที่ทำงานของกิ๊บประสบปัญหารายได้ตกต่ำ กิ๊บถูกให้ออกจากงานและไม่สามารถจ่ายค่างวดรถตามที่ตกลงกับก้องได้ ก้องจึงต้องเป็นหนี้แทนกิ๊บในที่สุด 

 

เช่นเดียวกับกรณีมาดามมาย ที่นักศึกษาปริญญาโทกู้เงินให้ สุดท้ายจ่ายดอกไม่ไหว แก้ปัญหาด้วยการจบชีวิตตัวเอง คนที่เสียใจคือครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รัก

 

ช่วยค้ำประกันเงินกู้

 

แอนกับฟลุคเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้ง 2 คนสนิทกันมากและมักจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เมื่อทั้งคู่เริ่มทำงานและสร้างครอบครัวก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ ต่อมาวันหนึ่งฟลุคขอให้แอนช่วยค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 400,000 บาท เพื่อเอาเงินไปร่วมหุ้นเปิดร้านกาแฟกับญาติ แอนก็ไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเพื่อนโดยที่ไม่ได้ปรึกษากับครอบครัวเลยเพราะคิดว่ารู้จักกับฟลุคมาตั้งแต่เด็กไม่มีวันเบี้ยวหรือหนีหนี้แน่นอน 3 เดือนต่อมาแอนก็ต้องเจอข่าวร้ายว่าฟลุคถูกให้ออกจากงานด้วยเหตุผลที่คาดไม่ถึงแถมร้านกาแฟก็ปิดตัวลงเพราะขายไม่ดี และทิ้งภาระหนี้อันหนักอึ้งไว้จนทำให้แอนกับครอบครัวต้องเดือดร้อนจากการตัดสินใจช่วยค้ำประกัน

 

ลืมประเมินสถานการณ์ตนเองให้คนอื่นยืมจนไม่พอใช้

 

เพื่อนของพลอยโทร. หาพลอยว่ารถกำลังจะถูกยึดเพราะขาดส่งมา 3 งวดแล้ว เดือนหน้าเก็บเงินจากลูกค้าได้จะรีบโอนคืนให้ พลอยสงสารเพื่อนมากจึงให้เพื่อนยืมเงิน 20,000 บาท ที่เก็บไว้จ่ายค่าเทอมลูกในอีก 2 เดือนข้างหน้า และลืมคิดไปว่าตอนนี้พลอยเองก็มีภาระหนี้ค่อนข้างมาก รายจ่ายของครอบครัวก็สูงจนเกือบจะเท่ากับรายได้ และลืมคิดไปว่าหากเพื่อนไม่คืนหนี้ที่ยืมไปพลอยจะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเทอมลูก เมื่อถึงเวลาที่พลอยต้องจ่ายค่าเทอมลูกเพื่อนก็ยังไม่คืนเงินให้ สุดท้ายพลอยต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าเทอมลูก และกลายเป็นหนี้เพราะช่วยเพื่อนโดยลืมประเมินสถานการณ์ของตนเอง

 

จากเหตุการณ์ข้างต้น เหตุการณ์ไหนบ้าง? ที่คุณเคยเจอ เชื่อว่าหลายคนอาจเจอมาทุกรูปแบบ สิ่งสำคัญที่จะไม่ทำให้เราต้องมานั่งใช้หนี้แทนคนอื่นนั่นคือ "เงินในมือเราอย่าเอาไปให้ใครง่าย ๆ ไม่ว่าเรื่องราวของเขาจะน่าสงสารมากขนาดไหน"

 

ก่อนตัดสินใจให้ยืมเงิน-ค้ำประกันเงินกู้ ใช้คาถานี้

 

1. ถามวัตถุประสงค์ของการยืมเงินหรือการค้ำประกันเงินกู้ เช่นเอาไปทำอะไร วงเงินเท่าไหร่ ทำไมต้องมาขอความช่วยเหลือจากเรา เช่น เงินไม่พอใช้จ่าย ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าบัตรเครดิต หรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน นอกจากนี้ เราต้องประเมินเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น คนที่จะขอยืมเงินหรือให้ค้ำประกันเงินกู้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่

 

คำถามเหล่านี้จะช่วยทำให้เราทราบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ 

 


2. ประเมินสถานะทางการเงินของตัวเอง เช่น หากเขาไม่คืนเงินเรา หรือเราต้องจ่ายหนี้ที่เราค้ำประกันแทนเขา เราจะไหวไหม เรามีความเดือดร้อนอะไรบ้าง หรือปัญหาด้านการเงินหรือไม่ มีหนี้สินเท่าไร มีรายรับ-รายจ่ายเป็นอย่างไร มีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ โดยให้คิดถึงทั้งสถานะปัจจุบันและคาดการณ์ไปถึงภาระที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากโดนเบี้ยวหนี้

 

มีเงินออมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เพียงพอหรือไม่ และมีเงินออมสำหรับรายจ่ายก้อนใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าหรือยัง ซึ่งหากเป็นเงินออมที่เรากันไว้เพื่อความจำเป็นในชีวิตของเรา จึงไม่ควรเอาไปให้ใครยืม

 

3. ไตร่ตรองเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องเงิน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ เมื่อคนที่ยืมเงินหรือขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ก็บ่ายเบี่ยงหลบหน้า ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากคุย หรือเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งคือคนที่ให้ยืมไม่กล้าทวงเงินเพราะกลัวกระทบต่อความสัมพันธ์ สุดท้ายเลิกคบ

 

4. ปรึกษาครอบครัว เพราะการให้กู้เงิน หรือค้ำประกันเงินกู้ อาจบานปลายกลายเป็นปัญหาครอบครัว แตกหักกันได้ และหากครอบครัวไม่เห็นด้วย ก็ควรเคารพการตัดสินใจ และปฏิเสธการให้ยืมเงิน หรือค้ำประกันเงินกู้ไป

 

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนควรคิดสักนิดก่อนตัดสินใจให้ใครยืมเงิน หรือค้ำประกันเงินกู้ อย่าสงสารคนอื่นมากกว่าสงสารตัวเอง อย่าสงสารเรื่องราวของคนมาขอช่วยเหลือมากกว่าคนข้างหลังของเรา เพราะไม่มีอะไรแน่นอนทั้งนั้น ยิ่งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เมื่อมันคือเงินของเราอย่าให้เขาไป 

 

อย่ากลัวคนอื่นต่อว่า ทำไมไม่ช่วยเหลือ ให้คิดไว้เสมอว่า เวลาเราไม่มีนอกจากครอบครัวแล้ว น้อยคนมากที่จะช่วยเหลือเรา จำให้ขึ้นใจ คนที่ไว้ใจ...ร้ายที่สุด

 

ส่วนลูกหนี้ อย่าคิดว่าตัวเองลำบาก เพราะทุกคนล้วนลำบากจะมากจะน้อย เมื่ออัพเดทชีวิตให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้แล้ว อย่าลืมอัพเดทจิตสำนึกของการเป็น "ลูกหนี้ที่ดีด้วย" ติดต่อเจ้าหนี้บ้าง อย่านิ่งตายใส่ 

 

กฎหมาย บทลงโทษมันหนัก

มีหนี้ต้องใช้คืนนะจ๊ะ!

 

ข้อมูล : 1213.or.th

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง