รีเซต

สปสช. เตรียมพร้อมสิทธิประโยชน์รักษา "ภาวะมีบุตรยาก" ในระบบบัตรทอง

สปสช. เตรียมพร้อมสิทธิประโยชน์รักษา "ภาวะมีบุตรยาก" ในระบบบัตรทอง
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2567 ( 13:40 )
22
สปสช. เตรียมพร้อมสิทธิประโยชน์รักษา "ภาวะมีบุตรยาก" ในระบบบัตรทอง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ผู้มีบุตรยาก (INFERTILITY CENTER) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานและนำข้อมูลกลับไปพิจารณาประกอบการออกหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ช่วยเหลือผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ประสบปัญหามีบุตรยาก 


นพ.จเด็จ กล่าวว่า คณะกรรมการ สปสช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ให้การรักษาผู้มีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สปสช. เตรียมประกาศหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย่างไรก็ดี สปสช. คาดการณ์ว่าเมื่อประกาศสิทธิประโยชน์แล้วจะมีสตรีอายุ 35 ปี ขึ้นไป เข้ามารับบริการประมาณ 2 แสนรายทั่วประเทศ 


ดังนั้นก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลการให้บริการว่าหน่วยบริการมีข้อเสนอในเรื่องรูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการอย่างไร หน่วยบริการมีความพร้อมหรือไม่ โดยเฉพาะหน่วยบริการของภาครัฐ  


ทั้งนี้ จากการการเยี่ยมชมโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์พบว่ามีความพร้อมทั้งด้านการลงทุนอุปกรณ์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็น โดยมีผู้รับบริการแล้ว 400 กว่าคน คัดกรองมาถึงขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วแล้ว 19 คน และตั้งครรภ์แล้ว 2 คน รวมทั้งมีศักยภาพที่จะขยายงานได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อ สปสช. ประกาศหลักเกณฑ์วิธีการออกมาแล้ว โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ก็จะเป็นกลไกสำคัญในภาคอีสาน ในการให้บริการแก่ประชาชนที่มีปัญหามีบุตรยาก 


อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้มีบุตรยากไม่ใช่ว่าทุกคนจะมารับบริการที่ศูนย์ผู้มีบุตรยากได้เลย เพราะระดับของการรักษามีตั้งแต่การให้คำปรึกษาและการรักษาโรคอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine Insemination: IUI) และการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization : IVF) และจะมีเครือข่ายการให้บริการขั้นตอนต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษา หรือแม้แต่การการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูกที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีสูตินรีแพทย์ แต่เมื่อล้มเหลวถึงจะมาทำเด็กหลอดแก้วที่ศูนย์ผู้มีบุตรยาก เป็นต้น 


“สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นกระบวนการที่ตั้งต้นจากปัญหาของประเทศไทยที่มีเด็กเกิดน้อย อย่างไรก็ดีจากข้อมูลเชิงวิชาการพบว่าจากจำนวนผู้รับบริการ 4 แสนคน จะมีเด็กเกิดขึ้นประมาณ 10,000 คน ดังนั้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถทดแทนจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงได้ แต่จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะเติมเต็มคนที่อยากมีบุตร ซึ่งในอดีต การรักษาภาวะมีบุตรยากมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ระยะต่อไปเมื่อ สปสช. เข้ามาดูแลแล้ว ก็จะมีผู้เข้าถึงบริการมากขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานะ และยืนยันว่าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศออกมาในปีงบประมาณ 2568 นี้ ประเด็นเรื่องเศรษฐานะจะไม่ใช่เงื่อนไขในการปฏิเสธการให้บริการ 


ด้าน พญ.ปราณี ศาสตราธรรม หัวหน้าศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยุคนี้คนแต่งงานช้า กว่าจะตัดสินใจมีบุตรก็ช้าตามไปด้วย ซึ่งขั้นตอนการรักษาด้วยการทำ IUI หรือ IVF เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ 


ดังนั้น อยากแนะนำให้เริ่มวางแผนการมีบุตรหรือเข้ามารับคำปรึกษากับสูตินรีแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้เจอปัญหาการมีบุตรยากก่อน บางคนหากเข้ามารับบริการเร็ว เพียงแค่ให้คำแนะนำก็สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะช่วงอายุก่อน 35 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการตั้งครรภ์  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง