รีเซต

บางกอกแอร์เผย 9 เดือน ขาดทุนเฉียด 5 พันล้าน เหตุผู้โดยสารหาย 65% จากพิษโควิด

บางกอกแอร์เผย 9 เดือน ขาดทุนเฉียด 5 พันล้าน เหตุผู้โดยสารหาย 65% จากพิษโควิด
ข่าวสด
17 พฤศจิกายน 2563 ( 10:38 )
100
บางกอกแอร์เผย 9 เดือน ขาดทุนเฉียด 5 พันล้าน เหตุผู้โดยสารหาย 65% จากพิษโควิด

บางกอกแอร์ เผย 9 เดือนแรกปีนี้ ผลประกอบการขาดทุนเฉียด 5พันล้านบาท เหตุผู้โดยสารหาย 65% จากพิษโควิดที่ทำให้มีการการจำกัดการเดินทาง

 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ว่า “รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 903 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 86.5 ขาดทุน 1,585.1 ล้านบาท

 

เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ สายการบินจึงได้เน้นการทำการบินภายในประเทศเป็นหลัก โดยบริษัทฯ ได้กลับมาทำการบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และสมุย-ภูเก็ต โดยได้บริหารจัดการเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด”

 

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,196.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 60.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนามบิน ปรับตัวลดลง 65.9 และ 64.9 ตามลำดับ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงร้อยละ 65.1

 

โดยเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งลดลงร้อยละ 74.3 ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ปรับตัวลดลงร้อยละ 54.8 ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 4,918 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท เท่ากับ 4,882.5 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้น เท่ากับ 2.37 บาท

 

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และส่งผลให้มีการทำการบินในประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) จึงมีจำนวนอาหารที่ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 196 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ยังคงต่ำกว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ร้อยละ 97

 

นอกจากนี้ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 63 และในส่วนของบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG-Cargo) มีน้ำหนักของสินค้าที่ให้บริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28 ของไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ร้อยละ 7

 

สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้ดำเนินการส่งแผนแม่บทการดำเนินงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญในโครงการฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง