คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ความจริงใน"อิตาลี" ที่ต้องการให้โลกรับรู้
ตอนผมเริ่มหาข้อมูลเพื่อนำเรื่องราวของอิตาลีมาบอกเล่าสู่กันฟังนั้น ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่นั่นเพิ่งเเซงหน้าจีนไปหมาด อยู่ที่ 3 พันคนเศษ
แต่ตอนที่ผมลงมือเขียน ห่างไปเพียง 24 ชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตในอิตาลี เพิ่มขึ้นอีกกว่าพันคน ยอดรวมกลายเป็น 4,825 คนไปแล้ว
อิตาลีในยามนี้ ตกอยู่ในสภาพ “ป่วยจนล้นโรงพยาบาล ตายจนล้นสุสาน” ไม่มีผิดเพี้ยน
โดยเฉพาะที่แคว้นลอมบาร์ดี ทางตอนเหนือของประเทศ แคว้นที่ได้ชื่อว่ารุ่งเรือง มั่งคั่ง มีการศึกษาดีที่สุดของอิตาลี เป็นทั้งหัวใจทางอุตสาหกรรมและทางการเงินของประเทศ
ที่น่าเศร้ามากขึ้นก็คือ เป็นแคว้นที่ได้ชื่อว่าระบบสาธารณสุขดีที่สุดในอิตาลี
ในขณะที่อิตาลี ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศมีระบบสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยมที่สุดชาติหนึ่งในโลกตะวันตก
อะไรกัน ที่ทำให้ระบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งเช่นนี้ถึงกับไม่สามารถป้องกันได้
“ไม่เคยเห็นคนตายมากเท่านี้มาก่อนในชีวิต” พยาบาลผู้หนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลหลักในเมืองแบร์กาโม ในแคว้นลอมบาร์ดี บอกเล่าสภาพการณ์ที่เผชิญมา โดยพยายามควบคุมตัวเองอย่างเต็มที่
“รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในใจกลางสนามรบไม่มีผิด”
อิตาลี กลายเป็นประเทศที่ประสบความสูญเสียจากโควิด-19 มากที่สุดนอกเหนือจากจีน แหล่งอุบัติของไวรัสร้ายชนิดนี้ จนถึงตอนนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 หมื่นคนทั่วประเทศ และยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงแต่อย่างใด
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อมหาศาล ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับตัวเข้าดูแลในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น มากจนเกินกว่า เตียงผู้ป่วย, อุปกรณ์ยังชีพ หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดตั้งแต่ผู้ช่วย เรื่อยไปจนถึงพยาบาลและแพทย์ จะรับมือได้ทัน
ในท่ามกลางความสับสน อลหม่าน เหนื่อยแทบขาดใจ พยาบาลรายนี้จำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ลงกลางคัน
เธอติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนกับเพื่อนร่วมวิชาชีพและคนในแวดวงทางการแพทย์อีกหลายคน
“เราค่อยๆ ทะยอยติดกันทีละคน สองคน” เธอบอก เสียงค่อยๆ เลือนหายลงไปในลำคอ
เกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากการปรากฏขึ้นมาของไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 อิตาลี กลายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดสำหรับโลก ชัดเจนอย่างไม่มีอะไรเคลือบแฝง ปิดบัง ต่างออกไปจากสังคมระบบปิดอย่างเช่นในประเทศจีน
อิตาลี แสดงให้เห็นว่า อะไรสามารถเกิดขึ้นได้บ้าง แม้ในพื้นที่ส่วนของโลกที่ได้รับการยอมรับกันว่า มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
และอะไรสามารถเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งทางรัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการเด็ดขาด รุนแรงเพื่อพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม
มิลาน กับ แบร์กาโม สองเมืองใหญ่ในแคว้นลอมบาร์ดีได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เฉพาะที่แบร์กาโม เมืองเดียวยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีมากกว่า 4,000 ราย
ทุกคน ทุกฝ่ายในลอมบาร์ดี พยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เปลี่ยนวอร์ดคนไข้ธรรมดา ให้กลายเป็นห้องไอซียู หรือเสริมเตียงคนไข้ลงไปในทุกหนทุกแห่งที่เป็นไปได้-แต่ไม่เป็นผล
นายแพทย์ ลอเรนโซ แดนติกา ผู้อำนวยการแผนกกุมารเวชศาสตร์ ที่โรงพยาบาล ปาปา โจวานนี ที่ 13 โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแบร์กาโมที่รองรับผู้ป่วยมหาศาลอธิบายไว้ว่า
“สภาพของเรา จริงๆ แล้วเหมือนอยู่ๆ ก็ตกลงไปในใจกลางไซโคลนสักลูก”
8 มีนาคม เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด นายกรัฐมนตรี จูเซปเป้ คอนเต้ ของอิตาลี งัดมาตรการเข้มงวด สั่้งปิดแคว้นลอมบาร์ดีและแคว้นใกล้เคียง ห้ามเข้า-ออก
กลางคืน ท้องถนนในเมืองใหญ่ที่เคยคึกคักเปล่งประกายสีสันหลากหลาย กลายสภาพเป็นเมืองร้าง
ฟรานซิสโก ลอนโก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านบริหารจัดการการสาธารณสุขและสุขภาพ ประจำมหาวิทยาลัยบอคโคนี ในมิลาน บอกว่า บรรยากาศภายนอกดูผ่อนคลายลง
ทุกคนใช้เวลาอยู่กับบ้าน ทำงานจากบ้าน ทำอาหาร ดูอัลบัมภาพเก่าๆ ของครอบครัว ฆ่าเวลา
“แต่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง สภาพยังเหมือนสงคราม”
แดนติกาเล่าว่า โรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียงที่ตนอำนวยการอยู่ ถูกสถานการณ์บีบให้กลายเป็นแหล่งรักษาผู้ป่วยจากการโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ทุกอย่างที่เหลือถูกลดระดับลงหรือไม่ก็ยุติไปโดยปริยาย
ทุกวอร์ด ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกการรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่เว้นแม้ในวอร์ดประสาทวิทยา แต่ละวันทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องปฏิเสธผู้ป่วย 20-30 คน เพราะไม่มีเตียงหลงเหลืออีกแล้ว
ที่แย่หนักลงไปอีกก็คือ หลายเตียงภายในโรงพยาบาลต้องถูกนำมาใช้เพื่อรักษาบุคลากรทางการแพทย์เสียเอง
“เฉพาะที่นี่ ราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข ติดเชื้อ เฉพาะที่แผนกของผมมีกุมารแพทย์ 25 คนทำหน้าที่อยู่ ตอนนี้ติดเชื้อไปแล้ว 10” แดนติกาบอกว่า แผนกอื่นๆ ก็แทบไม่ต่างกัน จนสถานการณ์กลายเป็นความท้าทายใหญ่หลวง
ราวกลางเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลมีเกือ 14,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 2,000 คนต้องการการรักษาในห้องไอซียู
คุณหมอแดนติกาบอกว่า ภายในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลของตน ผู้ป่วย 80 จากจำนวนทั้งหมด 100 เตียง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเตียงและอุปกรณ์สำหรับการยื้อชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาลในอิตาลีถึง “ขาดแคลน” ลงอย่างรวดเร็ว
ภายใต้สถานการณ์บีบคั้นและข้อจำกัดเกิดขึ้นอย่างมากมาย แดนติกายอมรับว่า ถึงที่สุดแล้ว หมอก็จำเป็นต้องเลือก
นายแพทย์ชาวอิตาลีผู้นี้ระบุว่า แม้ในยามปกติ แพทย์ทั่วไปก็ถูกฝึกมาให้คำนึงถึงอายุ และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อเลือกว่าจำเป็นต้องทุ่มความพยายามไปที่ใคร
ในยามปกติทั่วไป มาตรฐานทางการแพทย์เช่นนี้มักไม่ถูกนำมาใช้ เหตุผลก็คือ แพทย์มีทั้งบุคลากรและอุปกรณ์เพียงพอต่อการบริการอย่างทั่วถึง
แต่ในยามนี้ แดนติกายอมรับว่า แพทย์ทุกคนต้องเลือก ไม่ว่าจะลำบากใจแค่ไหนก็ตามที
เลือกว่าจะรักษารายไหน และใครกันที่ตกอยู่ในสภาพ “เกินกว่าที่จะช่วยเหลือได้แล้ว”!
ยัสชา มังค์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
“ที่เรากำลังเห็นอยู่ต่อหน้าในอิตาลีก็คือ สิ่งที่กำลังจะเริ่มเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก ในอีกไม่กี่สัปดาห์ ไม่กี่เดือนข้างหน้า หนึ่งในคุณลักษณะของโรคนี้ก็คือ มันใช้ระยะเวลาฟักตัวนานทีเดียว กว่าระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศจะเริ่มรู้สึกว่าเกินกำลังก็ใช้เวลานานไม่น้อย แต่เมื่อมันเริ่มต้นแล้วก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เร็วมากๆ”
ที่เวนิส แพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลหลักของที่นั่น เปิดเผยว่า เธอกับเพื่อนร่วมงานกำลังรับมือกับผู้ป่วยหนักจากโรคโควิด-19 จำนวน 92 คน แต่ยอมรับว่าอีกไม่นานสึนามิผู้ป่วยก็จะทะลักถาโถมเข้ามา
เจ้าหน้าที่ที่นั่น ช่วยกันดัดแปลงวอร์ดไอซียู “จำเป็น” ขึ้นมาแล้ว ในขณะที่มีการระดมกำลังแพทย์และพยาบาลจากทั่วทั้งนอร์ธอีสต์ เข้ามารับมือ
เวนิส มีเวลาเตรียมตัวมากกว่าลอมบาร์ดี แต่กระนั้นทุกคนก็เริ่มรู้สึกถึงปัญหาขาดแคลนทั้งด้านอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้งๆ ที่สถานการณ์แพร่ระบาดที่นั่นยังไม่ถึงจุดสูงสุด
“ถ้าเคสฉุกเฉินเข้ามาต่อเนื่องสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะรับมือได้ดีแค่ไหน”
แพทย์อิตาลีหลายคนยืนยันตรงกันว่า หวังว่า ประเทศอื่นๆ จะสามารถเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ของอิตาลีได้
ลอนโกชี้ว่า ประการแรกที่น่าจะนำไปใช้ได้ คือ ยิ่งตัดสินใจ “เทก แอ๊กชั่น” เร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น เพราะมันสามารถสร้างความแตกต่างได้
“ยิ่งคุณปิดประเทศ ลดการสัมผัสระหว่างผู้คนในสังคมลงเร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น
“กลไกที่มีประสิทธิภาพที่สำคัญที่สุดคือ บังคับให้ทุกคนอยู่แต่กับบ้าน นี่ไม่ใช่บทเรียนของอิตาลีอย่างเดียว จีนก็ให้บทเรียนอย่างนี้”
แดนติกาเตือนให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอิตาลีนั้น เกิดขึ้นแม้ในสภาพที่รัฐบาลมีหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนทุกคน คำถามของนายแพทย์ผู้นี้คือ จะเกิดสภาพอย่างไร หากสถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง
ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา จะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดการขาดแคลนโรงพยาบาล เตียงพยาบาลขึ้นที่นั่น
แดนติกาบอกว่า หมอที่อิตาลีสามารถตัดสินใจ “เลือก” ได้ตามหลักการมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ในสภาพเดียวกันหากเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หมอที่นั่นอาจต้องตัดสินใจด้วยปัจจัยที่แตกต่างออกไป
ใครร่ำรวยกว่า มีเงินมากกว่า มีสิทธิรอดหรืออย่างไร?!!