ไวรัสโคโรนา : สิงคโปร์ใช้ระบบ “นักสืบ” จัดการกับโรคโควิด-19 อย่างไร
สิงคโปร์เป็นประเทศแรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด แต่หากนับถึงวันที่ 16 มี.ค. ยังมีผู้ติดเชื้อแค่ 243 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจัยหนึ่งมาจากการใช้ทีม "นักสืบ" ช่วยแกะรอยผู้ติดเชื้อและผู้เสี่ยงติดเชื้อ พวกเขาทำได้อย่างไร และสายเกินไปไหมที่ทั่วโลกจะทำตาม
กลางเดือน ม.ค. กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาสิงคโปร์ในช่วงตรุษจีน หนึ่งในร้านที่พวกเขาแวะซื้อของเป็นร้านขายยาสมุนไพรจีน พนักงานขายคนหนึ่งให้นักท่องเที่ยวลองสินค้าด้วยการนวดน้ำมันที่มีส่วนผสมของตัวยาลงบนแขนชาวจีนคนนั้น
หลังจากนั้นกลุ่มนักท่องเที่ยวนี้ก็เดินทางกลับจีนไป
ณ ขณะนั้น สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ 18 ราย แต่วันที่ 4 ก.พ. รัฐบาลสิงคโปร์พบว่ามีการแพร่เชื้อแบบกระจุกตัวอยู่อยู่แถบร้านขายยาสมุนไพรจีนดังกล่าว ทั้งมัคคุเทศก์ในพื้นที่และพนักงานขายคนนั้นล้มป่วย
ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีคนอีก 9 คนติดเชื้อด้วย ทั้งสามีของพนักงานขาย ลูกวัย 6 เดือนของเธอ และคนงานในบ้านชาวอินโดนีเซีย พนักงานอีกสองคนในร้านก็ติดด้วย
- ไวรัสโคโรนา : ไดอารี่สาวอู่ฮั่น หนึ่งสัปดาห์แห่งความโดดเดี่ยวในเมืองไร้สรรพเสียง
- ไวรัสโคโรนา : สหรัฐฯ เริ่มทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ครั้งแรกของโลกแล้ว
- ไวรัสโคโรนา : เรื่องราวของคู่รักจีนและการกักตัวต่อสู้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
- ไวรัสโคโรนา : ที่มา อาการ การรักษา และ การป้องกันโรคโควิด-19 หลังการระบาดเข้าเดือนที่ 3
ตอนนี้ ทั้งหมดหายดีแล้ว สถานการณ์การจะแย่กว่านี้หากสิงคโปร์ไม่มีกระบวนการการสืบสวนติดตามอันซับซ้อนและครอบคลุมทั่วถึง สามารถตามรอยไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ระบุคนเสี่ยงติดเชื้อและก็สั่งให้คนเหล่านั้น รวมถึงคนใกล้ชิด กักตัวเอง ก่อนที่จะแพร่ไวรัสไปมากกว่าเดิม
ราว 40% ของผู้ติดเชื้อ 243 ราย ได้รับการติดต่อจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง บอกให้พวกเขาเข้ารับการตรวจเชื้อและกักตัวเอง
ถึงตอนนี้ มีคนทั้งหมด 6,000 คนที่โดนติดตามสอบสวน ใช้ทั้งระบบกล้องวงจรปิด การสืบสวนโดยตำรวจ เป็นงานนักสืบแบบสมัยเก่า เริ่มต้นด้วยการไล่โทรไปหาผู้เสี่ยงติดเชื้อ
โทรศัพท์จากคนแปลกหน้า
เมลิซซา (นามสมมติ) เป็นครูสอนโยคะจากสหราชอาณาจักรผู้อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ เธอเล่าว่าอยู่ดี ๆ บ่ายวันเสาร์วันหนึ่งก็มีคนโทรมาหา และบอกว่าเธอเสี่ยงติดเชื้อ
"มันเหลือเชื่อมาก พวกเขาถามฉันว่า คุณอยู่ในแท็กซี่ตอน 18.47 น. เมื่อวันพุธใช่ไหม"
จากนั้นเมลิซซาก็เริ่มจำได้ว่าเธออยู่บนแท็กซี่ตอนนั้นจริง ๆ และก็ลงค้นดูจากแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ตัวเองและพบว่าตัวเองอยู่ในแท็กซี่แค่ 6 นาทีเท่านั้นเอง
นั่นเป็นโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข วันถัดมามีเจ้าหน้าที่ 3 คนมาหาเธอที่บ้าน ใส่เสื้อคลุมและหน้ากากอนามัย มาให้คำสั่งว่าเธอต้องกักตัวอย่างไรบ้าง บอกว่าห้ามออกจากบ้าน ไม่งั้นจะโดนปรับหรือไม่ก็ต้องจำคุก
สองสัปดาห์ผ่านไป เมลิซซาไม่ได้มีอาการโรคโควิด-19 และสามารถออกจากบ้านได้แล้ว
ที่สิงคโปร์ คนส่วนใหญ่มีคนรู้จักที่ถูกสืบสวนติดตามตัว ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 8 พันคนต่อ ตร.กม. นี่เป็นประเทศนี้มีประชากรหนาแน่นที่สุดประเทศหนึ่งและมีแนวโน้มแพร่ระบาดได้ง่ายหากไม่สามารถหาต้นตอของเชื้อไวรัสได้
ไขปริศนา
การหาต้นตอเริ่มจากแพทย์ที่โรงพยาบาลที่จะถามคนไข้ว่าได้ไปที่ไหนมาบ้าง พบปะใครบ้าง หลังจากได้ผลตรวจของคนไข้ว่าติดเชื้อ พวกเขาจะส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่หาข้อมูลต่อจากคนไข้ งานจะยิ่งยากมากขึ้นหากคนไข้อาการหนักเกินกว่าจะสามารถมาตอบคำถามได้
จากนั้น ทีมสืบสวนอาชญากรรมของสิงคโปร์ก็จะเข้ามาร่วมด้วย โดยกรมสืบสวนอาชญากรรมจะประชุมกับกระทรวงสาธารณสุขทุกวันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
"โดยเฉลี่ยแล้วมีเจ้าหน้าที่ 30- 50 คนที่ทำงานติดตามสอบสวนคนในแต่ละวัน แต่บางทีก็มากกว่า 100 คน" เลียม กิม หัว ผู้ช่วยอธิบดีกรมสอบสวนอาชญากรรมสิงคโปร์ ระบุ
การติดตามสืบเสาะหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเป็นงานที่เพิ่มมาจากที่ตำรวจสิงคโปร์ทำอยู่ประจำอยู่แล้ว นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสิงคโปร์ถึงมีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำมาก บางครั้งตำรวจก็ยังขอความช่วยเหลือจากหน่วยปราบปรามยาเสพติด และหน่วยข่าวกรอง ด้วย
ติดเชื้อ 1 คน สังเกตอาการ 50 คน
ความมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขสิงคโปร์เห็นได้จากกรณีของจูลี ซึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อต้นเดือน ก.พ.
มีเจ้าหน้าที่โทรมาถามข้อมูลเธออย่างละเอียดขณะเธอนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ถามว่าเธอทำอะไรและพบใครบ้างในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องการทราบถึงคนที่เธอมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คนที่เธอใช้เวลาด้วยมากกว่าครึ่งชั่วโมง และอยู่ใกล้ในระยะ 2 เมตร
โดยรวมแล้ว เธอใช้เวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ 3 ชั่วโมง เธอระบุชื่อคน 50 คนด้วยกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขติดต่อหาทุกคน และทั้งหมดก็กักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีใครแสดงอาการแต่อย่างใด
มาตรฐานดีเยี่ยม
องค์การอนามัยโลกชื่นชมวิธีการรับมือของสิงคโปร์ตั้งแต่ยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีการแกะรอยทันท่วงทีก่อนที่จะเชื้อจะแพร่ระบาดในชุมชน ไม่เหมือนกับที่สหรัฐฯ และหลายที่ในยุโรป
แต่ว่าไม่ใช่ทุกประเทศจะทำได้เหมือนสิงคโปร์ องค์การอนามัยโลกบอกกับบีบีซีว่ามีไม่กี่ชาติที่จะมีระบบสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดเท่าสิงคโปร์ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มจะทำตามคำขอของรัฐบาลด้วย
กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (Infectious Diseases Act) ของสิงคโปร์ ยังกำหนดอีกด้วยว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมายหากใครก็ตามจะปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือรัฐในการรวบรวมหาข้อมูล โดยมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 2 แสนบาท หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งสองอย่าง และก็เคยมีชาวจีนสองคนที่โดนตั้งข้อหามาแล้วหลังให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่
แต่กระบวนการเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่มีจำนวนประชากรมาก ระบบสาธารณสุขแย่ และก็ไม่มีระบบการสอดส่องที่ดี อย่างเช่น อินโดนีเซีย นั่นหมายความว่าการตามตัวผู้ติดเชื้อก็เท่ากับการงมเข็มในมหาสมุทร
ตามตัวไม่ไหว
อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลก็ยังบอกว่ากระบวนติดตามสืบเสาะนี้ยังมีประโยชน์อยู่เพราะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจคิดกลยุทธ์รับมือใหม่ได้
ขณะนี้ ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในสิงคโปร์ เป็นผลมาจากบุคคลากรทางการแพทย์ แต่ก็เป็นผลจากกระบวนการติดตามผู้ติดเชื้อนี้ด้วย มันสามารถซื้อเวลาให้กับแพทย์ที่ต้องรักษาคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ก่อน
แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมากจริง ๆ สิงคโปร์จะต้องเลิกใช้ระบบติดตามนี้ มันทั้งใช้ค่าใช้จ่ายสูง ใช้แรงงานมาก และถึงจุดหนึ่ง ไวรัสก็จะรุดหน้าไปเร็วกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่
แต่เมื่อเวลานั้นยังไม่มาถึง นี่เป็นการแข่งขันต่อสู้กับ "อาชญากรที่มองไม่เห็น" เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้ดีว่า หากมีกรณีผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่รายที่พวกเขาไม่สามารถย้อนรอยหาคนเสี่ยงติดเชื้อได้ เชื้อไวรัสก็จะแพร่เข้าไปอยู่ในหมู่ประชาชนอย่างไม่สามารถแยกออกได้อีก