รีเซต

คนอเมริกันหมดศรัทธาใน "ทรัมป์ " คะแนนนิยมร่วงต่ำสุด กังวลสินค้าราคาพุ่ง

คนอเมริกันหมดศรัทธาใน "ทรัมป์ "  คะแนนนิยมร่วงต่ำสุด กังวลสินค้าราคาพุ่ง
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2568 ( 08:00 )
11

การประท้วงกำลังก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ประชาชนชาวอเมริกัน ออกมาชุมนุมต่อต้านนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  ท่ามกลางราคาสินค้าข้าวของต่างๆในอเมริกาที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะแพงมากกว่านี้อีกในอนาคตอันใกล้ จากนโยบายรีดภาษีนำเข้าของผู้นำประเทศ โดยเฉพาะการท้าชนกับมหาอำนาจอย่างจีน 


คนอเมริกันรู้สึกไม่สบายใจและกังวลเป็นอย่างมากกับปัญหาปากท้องของตนเอง ย้อนกลับไปวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เคยหาเสียงเอาไว้ จนถึงวันที่รับตำแหน่ง ทรัมป์ประกาศกร้าวเอาไว้ว่า จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ กลับมาร่ำรวยอีกครั้ง และจะมาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องชาวอเมริกัน  แต่ดูเหมือนว่าวันนี้การทำงานของทรัมป์ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน จะทำให้คนอเมริกันไม่พอใจ หรือผิดหวังมากกว่า  ยืนยันจากลผลสำรวจล่าสุด ที่พบว่าคะแนนนิยมของทรัมป์ร่วงดิ่ง และประชาชนกำลังหมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจแล้ว  



"คะแนนนิยมด้านเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด"


เริ่มจากคะแนนนิยมด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พบว่าขณะที่ตกต่ำสุดในชีวิตการเป็นประธานาธิบดี ประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาษีศุลกากร เงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของรัฐบาล


โดยผลสำรวจล่าสุดจาก "CNBC All-America Economic Survey" พบว่า ความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่ทรัมป์หาเสียงไว้ตอนนี้ชาวอเมริกันเชื่อว่าเศรษฐกิจแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2023 ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นพลิกผันไปในทางตรงกันข้าม


ผลสำรวจชาวอเมริกัน 1,000 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2568 พบว่า ประชาชน 44% เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ และอีก 51% ไม่เห็นด้วย ดีขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจครั้งสุดท้ายของ CNBC ตอนที่ทรัมป์พ้นตำแหน่งในปี 2020


อย่างไรก็ตามในด้านเศรษฐกิจ พบว่า มีคนพึงพอใจ 43% และไม่พอใจมากถึง 55% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการสำรวจของ CNBC ที่ผลงานด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเป็นลบสุทธิ


แม้กระทั่้งผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นฐานเสียงสำคัญทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งแม้จะยังคงมองบวกต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของทรัมป์ แต่ความไม่พึงพอใจก็เพิ่มขึ้นมาแล้ว 14 จุด เทียบกับคะแนนเฉลี่ยสมัยทรัมป์ 1.0


ผลสำรวจยังชี้อีกว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ทรัมป์บอกว่าจะส่งผลดีต่อประเทศจูงใจได้เฉพาะฐานเสียงเท่านั้น 

โดยประชาชนชาวอเมริกันมากถึง 49% มองว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะแย่ลง เป็นความไม่เชื่อมั่นที่สุดนับตั้งแต่ปี 2023

โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายของประธานาธิบดี 40% มองว่า นโยบายกำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในขณะนี้

"คนอเมริกันหมดความเชื่อมั่น-กังวลปากท้อง"


นอกจากนี้ยังมีการอีกหนึ่งผลสำรวจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ตอกย้ำว่าประชาชนชาวอเมริกันกำลังกังวลเรื่องปากท้องของตนเองอย่างหนัก 

พวกเค้าเชื่อว่าราคาอาหารและค่าเช่าบ้านจะแพงขึ้นหรือพุ่งขึ้นเร็วกว่าเดิมในระยะต่อไปนี้ ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันจากผลสำรวจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ล่าสุด เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ชาวอเมริกันคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3.6% 

ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเกือบสองปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 


ที่สำคัญ แบบสำรวจยังพบอีกว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคลดลง หลายคนมองว่ารายได้ในอนาคตจะโตช้าลง ขณะที่ความกังวลเรื่องการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563


สถานการณ์นี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังชะลอตัว และยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเดินหน้าใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบหลายสิบปี  ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสินค้าและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก


"คาดเงินเฟ้อ - ราคาสินค้าจะพุ่งขึ้นอีก"

 

นอกจากนี้ ในอนาคตก็ยังอยู่บนความเสี่ยง เพราะยังมีข้อมูลจากแบบสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่อีกหนึ่งโพล ที่พบว่า 

คนอเมริกันคาดว่าเงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจสูงสุดในรอบกว่า 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2534


เงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ ในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมากดดันหรือแทบจะตะโกนสั่งให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยก็ตาม

แต่ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ โดยเฉพาะเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ได้ออกมาย้ำว่าเฟดยังไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินนโยบายใด ๆ  จนกว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากนโยบายการค้าของทรัมป์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมจะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ แม้ตลาดแรงงานจะอ่อนตัวลง  เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ


นอกจากนี้เฟดยังต้องเผชิญกับความท้าทายสองด้านทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังสูง และสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เฟดยังไม่เร่งตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ย  แต่หากการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อระยะยาวแย่ลงอีก ก็อาจทำให้เฟดต้อง กลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง


ขณะเดียวกันเมื่อกลับมาดูที่แบบสำรวจยังไปเจออีกว่า ตอนนี้คนอเมริกันขอสินเชื่อได้ยากขึ้น และคนเริ่มรู้สึกว่าสถานะการเงินของตัวเองแย่ลง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นว่าจะปรับตัวขึ้นได้ ก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสามปี  นับตั้งแต่กลางปี 2565




" อดีตรัฐมนตรีคลัง ชี้ สหรัฐไร้ความน่าเชื่อถือ อาจถูกโดดเดี่ยว"


ที่สำคัญ คือ ความกังวลใจที่คนอเมริกันเป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเค้าคิดไปเองหรือคิดมากเกินไป เพราะนโบายของทรัมป์เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง 

เช่น เจเน็ต เยลเลน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ออกมาย้ำว่า ภาษีตอบโต้ของทรัมป์ ได้ทำให้ทั่วโลกมองว่าสหรัฐเป็นประเทศที่ไม่น่าเชื่อถือ และอาจถูกโดดเดี่ยวได้  


เจเน็ต เยลเลน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ  ออกแสดงความกังวล ต่อผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  โดยระบุว่านโยบายเก็บภาษีนำเข้าและแนวทางอื่น ๆ กำลังทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ

สูญเสียความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ  และทำให้นักลงทุนบางรายเริ่มหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐฯ


เยลเลนให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณที่น่ากังวล เนื่องจากพันธบัตรเหล่านี้เคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินโลก แต่ตอนนี้กลับมีคนเริ่มตั้งคำถามถึง ความปลอดภัยของสินทรัพย์เหล่านั้น


เยลเลนกล่าวว่า เธอไม่คิดว่าจะเกิดความปั่นป่วนจากสภาพคล่องที่เหือดหายไป จากตลาดโดยสิ้นเชิง แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ  และในความปลอดภัยของสินทรัพย์หลักของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง


เยลเลนยังกล่าวว่า ถึงแม้การประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 30 ปีเมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับผลตอบรับที่ดี  แต่เธอไม่แนะนำให้รัฐบาลหันไปออกพันธบัตรระยะสั้นเพิ่ม เพื่อรับมือกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้น  โดยย้ำว่าการออกพันธบัตรควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด


เยลเลนยังระบุว่า นโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ากำลังทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยทำให้หลายประเทศสงสัยในความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อนาโต, ยูเครน และข้อตกลงการค้า USMCA (สหรัฐฯ–เม็กซิโก–แคนาดา) พร้อมเตือนว่า สหรัฐฯ อาจกลายเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้


แม้เยลเลนยืนยันว่ายังไม่เห็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในขณะนี้ แต่เธอกล่าวว่า หากเกิดปัญหาขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ยังมีเครื่องมือสนับสนุนสภาพคล่องที่เคยใช้ช่วงต้นยุคโควิด-19 ในปี 2563


แรงกระแทกของทรัมป์ 2.0 ยังไม่จบเพียงแค่นี้ นี่เพียงแค่เริ่มต้น คนอเมริกันยังว้าวุ่นได้ขนาดนี้ และเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก ที่ต่างก็ต้องหาทางรับมือกับผลกระทบจากนโยบายต่างๆเช่นกัน เพราะสงครามการค้าครั้งนี้ อาจจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของโลกได้เลย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง