รีเซต

ย้อนดราม่า 10 ปี กับปัญหา ‘ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร’ ในประเทศไทยจากกาแฟสตาร์บัง สู่ ปังชา

ย้อนดราม่า 10 ปี กับปัญหา ‘ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร’ ในประเทศไทยจากกาแฟสตาร์บัง สู่ ปังชา
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2566 ( 16:48 )
158



จากประเด็นดราม่าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่โพสต์ภาพเมนูขนมหวาน น้ำแข็งไสใส่ขนมปังราดด้วยชาไทย พร้อมระบุว่าเป็น ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ ที่ได้รับความคุ้มครอง สงวนสิทธิ ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือนำชื่อไปใช้ 


จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าแล้วจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆที่ใช้คำว่า ‘ปังชา’ในชื่อร้านในเมนู จะต้องดำเนินการ-ปรับแก้-หลีกเลี่ยงอย่างไร ถึงจะไม่กลายเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหลักร้อยล้านบาท 


กระดุมเม็ดแรกที่เริ่มติดคือต้องเข้าใจ ‘เครื่องหมายการค้า-ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร’


หลังเกิดประเด็นดราม่า ‘ปังชา’ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาประชาสัมพันธ์ เพื่อชี้แจงแนวทางให้ผู้ประกอบกิจการที่คาดว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบทราบว่าข้อใดที่ต้องระวัง ห้ามทำ หรือทำได้ พร้อมกับสรุปข้อควรรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้นว่า เครื่องหมายการค้า-ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร มีข้อแตกต่างอย่างไร


เริ่มต้นจากคำว่า ‘เครื่องหมายการค้า’ คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสีหรือเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภคในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ


แต่ทั้งนี้เครื่องหมายการค้าจะคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่มีการยื่นจดทะเบียนไว้เท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วนสื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าและบริการ ข้อความหรือภาพนั้นต้องถูกสละสิทธิ คือไม่สามารถห้ามให้ผู้อื่นใช้ได้ 


อย่างไรก็ตามหากข้อความหรือภาพถูกนำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนไว้และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ผู้จดทะเบียนสามารถห้ามได้ 


กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกตัวอย่างกรณีการใช้คำว่า ‘ปัง..ชา’ หรือ ‘..ปังชา..’  ของร้านต่างๆ เพื่อสื่อถึงเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยว่ายังทำต่อได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ทำให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ


ในส่วน ‘ลิขสิทธิ์’ คือ ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ให้แก่เจ้าของผลงานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคุ้มครองเกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องจดทะเบียน ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฎกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง งานเผยแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์หรือศิลปะ


ตัวอย่างลิขสิทธ์ของธุรกิจร้านอาหาร เช่น ภาพถ่ายสินค้า ลวดลาย รูปเล่มเมนูอาหาร ลวดลายหรือภาพวาดบนภาชนะ ทั้งนี้ ภาพวาดหรือภาพถ่ายที่ทำขึ้นมาเองแม้จะออกมาคล้ายกันเพราะเป็นมุมหรือแนวคิดเดียวกันก็ไม่ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของใคร


และสุดท้ายในเรื่อง ‘สิทธิบัตร’ แยกเป็น 3 รูปแบบ แบบแรกคือ ‘สิทธิบัตรการประดิษฐ์’ การประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่มีความซับซ้อนหรือมีการแก้ไขปัญหารทางเทคนิค เช่น กระบวนการฆ่าเชื้อสเตอริไลซ์สำหรับอาหาร


‘อนุสิทธิบัตร’ การประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น แต่ไม่มีความซับซ้อนทางเทคนิกมาก เช่น เครื่องผลิตน้ำแข็งไสแบบเกล็ดละเอียด


‘สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์’ การคุ้มครองรูปร่าง ลวดลาย หรือองค์ประกอบของสี เช่น รูปร่างขนมที่มีลักษณะพิเศษ,ลวดลายของกล่องบรรจุอาหาร


ในกรณีปังชา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงไว้ว่า เจ้าของแบรนด์ทำการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนภาชนะที่ใช้ใส่ ฉะนั้นแล้ว เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยใครก็ขายได้ แต่ข้อระวังคืออย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่ถูกยื่นจดทะเบียนไว้ไปใช้


บทเรียนสตาร์บัคส์ กับ สตาร์บัง ศึกระหว่างพรีเมียมแบรนด์ กับ ร้านน้ำชงริมถนนพระอาทิตย์


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 บริษัท สตาร์บัคส์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังเจ้าของร้านกาแฟ สตาร์บัง ที่ขายอยู่ริมถนนบริเวณหน้าถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


เหตุที่ฟ้องเนื่องจากร้านกาแฟสตาร์บัง อาจมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าในส่วนของแก้ว และปลอกแก้ว โดยทางร้านสตาร์บัคส์ฯมีข้อความระบุไว้ที่แก้ว หรือ ปลอกแก้วว่า STARBUCK COFFEE พร้อมกับลักษณะเป็นรูปคนประดิษฐ์ในวงกลมพื้นสีเขียว 


แต่ทางสตาร์บัง ที่ปลอกแก้วมีข้อความระบุว่า STARBUNG COFFEE พร้อมกับภาพในลักษณะวงกลมคล้ายกันแต่รูปด้านในเป็นชายสวมผ้าคลุมหัวกำลังทำกาแฟ และมืออีกข้างชูนิ้ว 2 นิ้ว


แม้ต่อมาร้านสตาร์บังจะทำการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้า แต่ทางร้านสตาร์บัคส์ฯยังคงรู้สึกว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนที่พบเห็นได้ การฟ้องร้องจึงดำเนินต่อไป จนท้ายที่สุด คดีนี้จบลงด้วยการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม สตาร์บังเปลี่ยนชื่อร้านเป็น O.K. STAR BUNG หรือ O.K. สตาร์บัง เปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจากชายชูนิ้ว 2 นิ้วชายเป็นยืนร้องไห้




‘ไทยแลนด์’ ฟอนต์คนไทย โดยคนไทย ละเมิดจากทีมไทย


เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2565 นายสุชาล ฉวีวรรณ กราฟิกดีไซเนอร์ เจ้าของแบบอักษร ‘Thailand-ไทยแลนด์’ เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย จากกรณีที่นำผลงานการออกแบบอักษร ‘Thailand-ไทยแลนด์’ ไปใช้ในชุดแข่งขันของนักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 โดยไม่ได้รับอนุญาต


โดยตั้งแต่เกิดเรื่องทางกราฟิกดีไซเนอร์ได้ไกล่เกลี่ยกับทางสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทยผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญามาตลอดแต่ตกลงไม่ลงตัว โดยเจ้าของชิ้นงานได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านบาทแต่ทางสมาคมฯ ตอบกลับว่าสามารถชดใช้ให้ได้ 50,000 ถึง 100,000 บาทเท่านั้น


“ผลงานดังกล่าวเป็นการใช้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของผมออกแบบและนำเสนอ ผมจึงเชื่อว่างานอักษรที่ออกแบบสามารถสร้างมูลค่าได้ด้วยตัวเอง การที่สมาคมฯ นำผลงานดังกล่าวไปใช้จึงทำให้เกิดความสับสนว่าผมมอบสิทธิ์ให้ จึงเกิดความเสียหายและต้องมีการเรียกชดใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้น” สุชาล ระบุ


ขณะที่ฝั่งสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย ได้มีการออกหนังสือขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยใจความระบุว่า เป็นความเข้าใจผิดของทีมงานที่จัดทำชุดให้นักกีฬา


สำหรับผลงาน ‘Thailand-ไทยแลนด์’ ทางเจ้าของผลงานได้ยื่นเอกสารจดลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ได้รับอนุญาตแล้ว


เมื่อบทเพลงที่สร้างความบันเทิง สร้างความยุ่งเหยิงตามมา


ในปี 2559 หลายเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่างออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยเมื่อมีการดำเนินคดีกับร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จากการเปิดเพลงภายในร้านผ่านแอปพลิเคชั่นยูทูป ทางต้นสังกัดเพลงได้เรียกปรับเงินจำนวน 2 หมื่นบาท 


ด้าน กริช ทอมมัส ผู้บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมายืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเกิดความผิดจริง การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในลักษณะของการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต 


ในปีเดียวกันทางฝั่งต่างประเทศ กับบทเพลง ‘Thinking Out Loud’ ที่เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกก็เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อ เอ็ด ทาวน์เซนด์ (Ed Townsend) ได้ฟ้อง เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) และผู้ร่วมแต่งเพลงด้วยการระบุว่าเพลงดังกล่าวได้ลอกเลียนแบบจังหวะดนตรี รวมไปถึงคอร์ดเพลง Let’s Get It On ของ มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) 

 

โดยระหว่างการพิจารณาของศาล เอ็ด ชีแรน ปฏิเสธข้อหาดังกล่าวมาตลอด จนท้ายที่สุดหลังจากการไต่สวนนานหลายสัปดาห์ ศาลที่กรุงนิวยอร์กได้ตัดสินแล้วว่า เอ็ด ชีแรน ไม่มีความผิด


‘ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร’ ไม่ได้ให้โทษเสมอไป หากใช้ถูกทางย่อมให้คุณต่อส่วนรวม


ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญา มีโครงการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กับผลิตภัณฑ์ สินค้าพื้นบ้าน ประจำท้องถิ่นในหลายจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย


เหตุผลในการขึ้นทะเบียนเนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความคุ้มครอง สิ่

งบ่งชีทางภูมิศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า


ตัวอย่าง สินค้าที่ได้รับการจดทะเบียน GI เช่น กาแฟดอยตุง จังหวัดเชียงราย,ส้มสีทอง จังหวัดน่าน,สังขโลกสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย,ชามไก่ลำปาง จังหวัดลำปาง และ ผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดขอนแก่น


จากข้อมูลปี 2565 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 189 รายการ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย และมีแผนจะเดินหน้าผลักดันขึ้นทะเบียนสินค้า GI อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ 





เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง 

ภาพ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง