สธ.ยันข้อมูล ATK ตัวเลขจริง! ในระบบ รพ.ส่งเข้าส่วนกลาง แต่ยึดผล PCR เป็นหลัก
ข่าววันนี้ จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มาจากการตรวจหาเชื้อด้วย ATK โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายจังหวัด เมื่อนำมารวมกันแล้วมากกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมที่กรมควบคุมโรครายงานในระบบนั้น
เมื่อวันที่ 1 เมษายน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงชี้แจงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ยืนยันว่าตัวเลขที่รายงานเป็นตัวเลขที่แท้จริง มีการรายงานและบันทึก (คีย์) ข้อมูลมาจากโรงพยาบาล (รพ.) และรายงานเข้ามาส่วนกลาง
“บางวันอาจมีการคีย์ข้อมูลสะสม ทำให้ตัวเลขติดเชื้อสะสมแกว่งเป็นบางวัน ข้อสังเกตว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงดูได้จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะต้องสอดคล้องกับผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบ, ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ที่มีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วย ATK เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนเพื่อการควบคุมโรคระดับจังหวัด ขณะที่การตรวจด้วย RT-PCR เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการยืนยันผู้ติดเชื้อที่ใช้ระดับสากลทั่วโลก” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะยังคงสูงขึ้นไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ดังนั้น ผู้สูงอายูกลุ่ม 608 ควรไปรับวัคซีนก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งยังเหลืออีก 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับผู้ที่เตรียมตัวไปพบผู้สูงอายุ ก็ควรไปรับวัคซีนเช่นกัน
นพ.จักรรัฐ กล่าวยืนยันว่า ไม่เคยคิดที่จะเก็บตัวเลขผู้ติดเชื้อเอาไว้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นตัวช่วยให้เห็นแนวโน้มที่สำคัญ และตัวเลขจากการตรวจ ATK ก็จะทำให้ได้เห็นภาพของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง และเข้าไปควบคุมโรค
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ไม่ใช่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันด้วย ATK หรือ PCR แต่อยากเห็นแต่ละจังหวัดมีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าตรงนี้เป็นจุดเสี่ยงต้องคุมโรคให้ได้ป้องกันให้ได้ก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งตอนนี้หลายจังหวัดเริ่มเห็นแล้วว่ามีสถานที่บางสถานที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น ร้านอาหารกึ่งผับที่มีการเปิดรับสงกรานต์กันหลายที่ นอกจากนี้ บางพื้นที่เริ่มมีคอนเสิร์ต คนรวมกันจำนวนมากก็ต้องมีมาตรการ VUCA ทั้งหมดทั้งมวลถ้าเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัว เรากังวลไม่มากเพราะจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย แต่ที่กังวลมากกว่าคือ ไปร่วมงานเสร็จแล้ว จะไปเจอเด็กเล็กไปเจอผู้สูงวัย ไปเจอกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้ากลุ่มเรานี้ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงได้ ดังนั้น จึงต้องฝากย้ำให้ช่วยกันเซฟ 608 จริงๆ ซึ่งตอนนี้ดูตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังขึ้นไม่สูงมากพอ บุคคลที่ไม่ฉีดสักเข็มเลยก็น่ากังวลเหมือนกันซึ่งมีมากพอสมควร” นพ.จักรรัฐ กล่าว