รีเซต

น้องจีน่า เด็กหาย เรื่องที่สังคมห้ามปล่อยให้กลายเป็นเรื่องเคยชิน!

น้องจีน่า เด็กหาย เรื่องที่สังคมห้ามปล่อยให้กลายเป็นเรื่องเคยชิน!
TeaC
7 กันยายน 2564 ( 15:43 )
821
น้องจีน่า เด็กหาย เรื่องที่สังคมห้ามปล่อยให้กลายเป็นเรื่องเคยชิน!

น้องจีน่า วัย 1 ขวบ 11 เดือน เด็กหายตัวลึกลับจากบ้านกลางหุบเขา แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นร้อนแรงที่สังคมให้ความสนใจและเฝ้าติดตาม ภาวนาอย่างมีหวังให้พบเจอตัวน้องโดยเร็ววัน ไม่อยากให้เป็นคดีเด็กหายและการลักเด็กเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมไทย 

 

หากก่อนหน้านี้มักจะเห็นข่าวเด็กหาย ทั้งที่เป็นคดีดังอย่าง คดีน้องชมพู่ แห่งบ้านกกกอก และอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับเด็กหายที่ยังไม่ได้เป็นข่าว แต่เชื่อว่าหลายคนอาจได้เห็นการประกาศตามหา "เด็กหาย" บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากมาย บางครอบครัวโชคดีที่ลูกน้อยได้กลับสู่อ้อมอก แต่ขณะที่บางครอบครัวอาจต้องเฝ้ารอคอยอย่างยาวนานแม้จะริบหรี่ที่จะได้ลูกกลับคืน วันนี้ TrueID จะพาไปดูสถิติเด็กหายและลักเด็กที่ยังเกิดขึ้นในสังคมไทยให้เห็นและคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเหมือนกรณี "น้องจีน่า" เด็กหายคนล่าสุด

 

 

244 ราย สถิติรับแจ้งเด็กหาย

 

ในปี 2562 มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเด็กหายรวมทั้งหมด 244 ราย กว่า 74% คือ เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน และมักมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี เป็นเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย เมื่อไล่ตัวเลขสถิติเด็กหาย ตั้งแต่ ปี 2560 -2561 พบว่า

 

  • พ.ศ.2560 เด็กหายมีจำนวน 422 ราย
  • พ.ศ.2561 เด็กหายมีจำนวน 321 ราย
  • พ.ศ.2562 เด็กหายมีจำนวน 244 ราย

 

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหายไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เลยแม้ว่าในสถิติ 3 ปีที่ผ่านมาการรับแจ้งเด็กหายลดลงทุกปี แต่อย่าลืมว่ายังมีเด็กหายอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา และจากข้อมูลกลุ่มเสี่ยงที่หนีออกจากบ้านมากที่สุด คือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการได้รับผลกระทบความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอันดับต้น ๆ ที่อยู่ในครอบครัวสังคมไทย และเด็กจะไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่รู้จักผ่านออนไลน์มากกว่า และนี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงหนีออกจากบ้าน

 

ขณะที่ "การลักเด็ก" เป็นภัยสังคมที่ยังคงเกิดขึ้นให้เห็นในสังคมไทยไม่แพ้กัน โดยข้อมูลพฤติกรรมผู้ก่อเหตุลักพาเด็กในประเทศไทย รอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าสนใจของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่มักจะมีพฤติกรรม ดังนี้

 

กลุ่มเป้าหมายที่ผู้ก่อเหตุมักเลือกลักเด็ก

 

  • เด็กอายุ 3 - 12 ปี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • เด็กที่มีปัญหาครอบครัว
  • เด็กที่วิ่งเล่นตามลำพัง
  • เด็กติดเกม

 

ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วเป็นเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องระมัดระวังในการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังขาดวุฒิภาวะ และเชื่อใจคนอื่นได้ง่ายกว่า รวมทั้งไม่ควรปล่อยเด็กเล็กให้อยู่ตามลำพัง 

 


วิธีการลักพาตัว

 

ส่วนวิธีการที่มักจะปรากฎให้เห็นเป็นข่าวนั้น ส่วนใหญ่วิธีการลักพาตัวเด็กจะมี 4 ลักษณะหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

 

  • พูดคุย ตีสนิทกับเด็ก
  • หลอกล่อเด็กตามร้านเกม
  • หลอกล่อด้วยเงิน ขนม ของเล่น เกม หรือหลอกว่าพ่อแม่ให้มารับ
  • พูดคุย ตีสนิทกับผู้ปกครอง

 

ลักษณะผู้ก่อเหตุ

 

เมื่อลองมาดูลักษณะของผู้ก่อเหตุ จะพบว่า ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นคนเร่ร่อน ขอทาน ทำงานรับจ้างทั่วไป-ไปทั่ว มักจะอาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ และมักจะไม่มีพาหนะส่วนตัว ใช้การเดินทางโดยรถสาธารณะ ส่วนลักษณะการก่อเหตุไม่ใช่กลุ่มแก๊ง แต่จะทำเพียงลำพัง บางกรณีผู้ก่อเหตุมีอาการทางสมอง และมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

 

วัตถุประสงค์ในการลักเด็ก

 

ส่วนวัตถุประสงค์ หรือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็กนั้น มี 3 ข้อหลัก ๆ ที่มักจะคุ้นเคยตามข่าวการลักพาเด็กปรากฎขึ้น ได้แก่ กระทำทางเพศ โดยบางรายอาจนำไปทารุณกรรม หรืออาจฆาตกรรมปิดปาก นำเด็กที่ลักพามาไปเร่ร่อนขายสินค้า หรือขอทาน และลักพาตัวด้วยเสน่หา อ้างถึงความรักอยากพาไปเลี้ยงดู เป็นต้น

 

 

เด็กหายและการลักเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง ป้องกันได้!

 

จะเห็นได้ว่าเด็กหายและการลักเด็กนั้น ยังเกิดขึ้นในสังคมได้ตลอดเวลา แม้ว่าสถิติในการรับแจ้งจะลดลง แต่อย่าลืมว่า ภัยดังกล่าวยังมีให้เห็นตลอดแต่เพียงแค่ไม่ปรากฎเป็นข่าวบ้าง ดังนั้น ครอบครัวจึงเป็นเกราะป้องกันอันดับแรกที่ดีที่สุ้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลเด็ก หรือลูกน้อยอย่างชนิดที่เข้มงวด ปล่อยปละละเลยไม่ได้ ยิ่งในช่วงอายุ 3 - 12 ปีด้วยแล้ว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เด็กจะหนีออกจากบ้าน รวมทั้งถูกลักพาตัวได้ 

 

มูลนิธิกระจกเงา ได้แนะนำวิธีการดูแลเด็กเมื่อพาออกไปนอกบ้าน ด้วย 5 ข้อสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำให้ได้ ได้แก่

 

  • ทราบรูปพรรณของเด็ก ส่วนสูง น้ำหนัก สีเสื้อผ้า
  • ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของเด็ก ก่อนพาเด็กออกจากบ้าน
  • ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้
  • บอกเด็กว่าหากพลัดหลง ให้ไปที่จุดนัดเจอหรือแนะนำเด็กว่าควรขอความช่วยเหลือกับใคร
  • สอนเด็กว่าหากตกอยู่ในอันตราย มีคนแปลกหน้าจูงมือหรือพาไปที่ไหน ให้เด็กตะโกนขอความช่วยเหลือ

 

 

เมื่อเห็นเด็กอยู่ลำพังทำอย่างไร?

 

ในฐานะพลเมืองอย่างเรา ๆ เมื่อเห็นเด็กเล็กอยู่เพียงลำพัง ควรช่วยสอดส่องและรีบติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหากเจอผู้ที่มีลักษณะไม่ใช่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็ก ควรช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ด้วยการดูความเคลื่อนไหวของเด็ก เข้าไปไถ่ถาม และรีบติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือแจ้งเบาะแสมายังที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร. 095 631 1914 ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กันนะ

 

เพราะการที่เด็กหาย หรือเด็กถูกลักพาตัวไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือพลเมืองดีอย่างเรา ๆ ต้องช่วยกันให้ความสำคัญในการใส่ใจ สอดส่อง เพราะเด็กหาย หรือเด็กถูกลักพาตัวไม่เหมือนในละครที่จบแบบแฮปปี้ แต่ในความเป็นจริงเด็กเหล่านี้อาจรอการช่วยเหลือจากทุกคนอยู่

 

อย่ามองว่าเขาอาจจะรู้จักกัน 

แต่ให้สังเกตกันสักนิด ดูแลกันสักหน่อยว่า เด็กปลอดภัยหรือไม่? หรือเด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า? และอย่าปล่อยให้เรื่องคนหายกลายเป็นความเคยชิน

 

อย่าให้ต้องเกิดกรณีเด็กหาย เหมือนคดีน้องจีน่าที่หวังให้เจ้าหน้าที่ค้นหาน้องเจอได้เร็วและปลอดภัยที่สุด 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง