รีเซต

“บอลไทยติดหล่ม เพราะเส้นสาย?” แกะรอยคอร์รัปชันในสนามเยาวชน ผ่านสายตาโค้ชรุ่นเก๋า

“บอลไทยติดหล่ม เพราะเส้นสาย?” แกะรอยคอร์รัปชันในสนามเยาวชน ผ่านสายตาโค้ชรุ่นเก๋า
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2568 ( 22:25 )
8

ฟุตบอลกลายเป็นความหวังของหลายครอบครัว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่รายได้น้อย เด็กที่เตะบอลเก่ง มักถูกมองว่าอาจเป็นทางรอดทางเศรษฐกิจ เป็นใบเบิกทางสู่ทุนการศึกษา สู่ชื่อเสียง และสู่ชีวิตที่ดีกว่า

แต่ในโลกแห่งความจริง เส้นทางของฟุตบอลเยาวชนไทยไม่ได้โรยด้วยหญ้าเขียวขจี หากเต็มไปด้วยหลุมบ่อจากกลไกที่ไม่โปร่งใส การเมืองเบื้องหลังสนาม และเกมใต้โต๊ะที่ไม่เคยหยุดหมุน

อ.สกล เกลี้ยงประเสริฐ โค้ชโรงเรียนหมอนทองวิทยา ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการมากว่า 30 ปี เล่าถึงความพยายามผลักดันให้ฟุตบอลเยาวชนพัฒนาไปข้างหน้า แต่กลับพบว่า มีบางคนเลือกวิธีง่ายกว่า—ใช้เงินซื้อทุกอย่าง แม้กระทั่งโอกาสของเด็กคนหนึ่ง…

“เงิน 4 หมื่น” – โอกาสที่ซื้อไม่ได้?

“ทำถุงสีน้ำตาลตกไว้ข้างหน้าเรา พอเปิดดูเจอเงิน 4 หมื่นบาท แล้วเขาบอกว่าให้เลือกเด็กคนนี้” 

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตการเป็นโค้ชของ อ.สกล แต่เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนวิธีคิดที่บิดเบี้ยวของผู้ปกครองบางกลุ่ม ที่มองว่าเงินสามารถซื้อทุกอย่างได้ แม้กระทั่งโอกาสที่เด็กคนอื่นควรได้รับ

การใช้เงินต่อรองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัจจุบันยิ่งทำได้ง่ายขึ้นด้วยระบบโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่มีเงินสด ไม่มีหลักฐาน ผู้รับก็ยากจะปฏิเสธ

ผู้ตัดสิน จากเสื่อผืนหมอนใบ สู่เจ้าของบ้านหลังใหญ่

“ตอนนี้ผู้ตัดสินบางคนกลายเป็นเศรษฐี” อ.สกล เล่าว่าผู้ตัดสินหลายคนไม่ได้ยกระดับตัวเองจากความยุติธรรม แต่จากการลงสนามตัดสินให้ทีมใหญ่ ทีมมีเส้น และได้รับ “ของแถม” หลังเกมเสมอ

“บางคนกลับบ้านได้เงิน 2 หมื่น 3 หมื่น เพราะตัดสินให้ทีมใหญ่ชนะทุกครั้ง” พฤติกรรมเช่นนี้กลายเป็นวัฒนธรรมเงียบในวงการ และไม่มีระบบตรวจสอบที่จริงจังเพียงพอ ซึ่งในที่สุดแล้วทำให้ฟุตบอลเยาวชนกลายเป็นพื้นที่ของการจัดฉาก ไม่ใช่การแข่งขันจริง

“ครู+โค้ช = เกราะสุดท้ายของเด็กมีฝัน”

ในสภาพแวดล้อมที่เด็กเก่งกลับต้องนั่งข้างสนาม เพราะไม่มีใครฝากมา อ.สกลมองว่าคนที่จะเป็น “เกราะคุ้มกัน” ให้เด็กได้มากที่สุด ก็คือครูที่เป็นทั้งครูและโค้ชในคนเดียวกัน ไม่ใช่แค่สอนให้เล่นฟุตบอลเก่ง แต่ต้องสอนให้เด็กรู้จักให้อภัย เข้าใจเจตนาของเกม และเติบโตในสนามอย่างมีวินัย “ถ้าคนหนึ่งมีทั้งความเป็นครู และจิตวิญญาณของโค้ช โรงเรียนนั้นจะปลอดภัยสำหรับนักกีฬา” เพราะโค้ชประเภทนี้จะไม่เลือกเด็กตามสายสัมพันธ์ แต่เลือกเพราะเห็นอนาคตในตัวเด็กจริง ๆ

อ.สกล ยังย้ำว่า การสอนเด็กฟุตบอลไม่ใช่แค่การฝึกเทคนิค แต่คือการอบรมให้รู้จักคำว่า “อโหสิกรรม” เข้าใจว่าทุกคนในสนามต่างมีเหตุผลเบื้องหลัง เราอยากได้ประตู เขาก็ไม่อยากเสียประตู เด็กต้องเรียนรู้ว่าเกมกีฬาไม่ได้มีแค่แพ้หรือชนะ แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่โทษกรรมการหรือโทษโชคชะตาทุกครั้ง “กรรมมันมาเร็ว” คือบทเรียนที่เด็กต้องเรียนรู้ และรู้ทันตัวเองในทุกการตัดสินใจ

ระบบอุปถัมภ์แบบแฝง เมื่อคนที่อยู่ข้างบนลงมาทำงานข้างล่าง

ความซับซ้อนของระบบฟุตบอลไทย ไม่ได้จบแค่ในโรงเรียนหรือสนามแข่งขัน แต่ยิ่งพัวพันมากขึ้นเมื่อ “คนที่อยู่ข้างบน” ลงมาจัดการเอง

“คนเป็นเฮดไม่ควรลงมาเดินสนาม หรือเจรจาค่าตัวกับโค้ช” อ.สกล ชี้ว่า หากผู้มีอำนาจในสมาคม หรือตำแหน่งสูงในระบบ ลงมาจัดการซื้อขายนักเตะเอง ย่อมทำให้โค้ชระดับล่างไม่กล้าปฏิเสธ เพราะกลัวเสียตำแหน่งหรือถูกกันออกจากระบบ

บางกรณีมีการเสนอเปอร์เซ็นต์ค่าตัวเด็กให้โค้ช หากยินยอมให้เด็กติดทีม “จะให้ 15% หรือ 20% ก็ว่าไป” พฤติกรรมแบบนี้ชี้ให้เห็นว่า ฟุตบอลกลายเป็นพื้นที่ลงทุน ไม่ใช่พื้นที่พัฒนา

คำตอบที่ไม่มีในตำรา ความซื่อสัตย์คือทางรอดเดียว

สิ่งที่ อ.สกล ย้ำตลอดการพูดคุย คือ “ความซื่อสัตย์” หากระบบคัดตัวไม่ซื่อสัตย์ ฟุตบอลไทยไม่มีวันไปถึงระดับโลก



อย่างญี่ปุ่นประเทศสามารถสร้างระบบที่โปร่งใส ตั้งแต่การคัดตัวเยาวชน ไปจนถึงการพัฒนาเป็นทีมชาติ เพราะใช้ “คุณธรรม” เป็นฐาน ไม่ใช่ “เงิน” เป็นตัวตั้ง

โค้ชที่ดีไม่ใช่แค่ฝึกเด็กให้เล่นฟุตบอลเก่ง แต่ต้องฝึกให้รู้จักความอดทน การให้อภัย และการยืนหยัดในความถูกต้อง แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดัน หรือโอกาสทางผลประโยชน์ที่ยื่นมาตรงหน้า



บทเรียนจากโค้ชรุ่นเก๋า  ถ้าไม่กล้าล้างบาง อย่าหวังจะไปบอลโลก

คำถามที่ อ.สกล ทิ้งท้ายไม่ใช่แค่ว่า “ฟุตบอลไทยจะไปบอลโลกได้ไหม?” แต่คือ “มีใครกล้าล้างระบบที่ผุพังนี้บ้าง?”

—----- 


วงการฟุตบอลไม่ใช่แค่เรื่องของลูกบอลและเส้นขาวบนสนาม แต่คือการออกแบบโอกาสให้กับเด็กทั้งประเทศ และถ้าปล่อยให้คอร์รัปชันปกคลุมเกมนี้ต่อไป… สิ่งที่แพ้ไม่ใช่แค่ทีม แต่คืออนาคตของฟุตบอลไทยทั้งหมด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม