รีเซต

'กรมชล' เตรียมเครื่องมือช่วย 76 จังหวัด รับมือภัยแล้ง เน้นจัดสรรให้พอทุกกิจกรรม

'กรมชล' เตรียมเครื่องมือช่วย 76 จังหวัด รับมือภัยแล้ง เน้นจัดสรรให้พอทุกกิจกรรม
มติชน
14 มกราคม 2565 ( 16:57 )
63

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ได้สั่งการให้สำนักชลประทานทั่วประเทศคุมเข้มแผนบริหารจัดการน้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พิจารณาเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าว รวมทั้งเร่งสร้างการรับถึงสถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกิดความเคร่งครัดเพื่อช่วยกันประหยัดน้ำ

นายประพิศ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือภัยแล้งปี 2565 ทั่วประเทศ กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร จำนวน 5,935 หน่วย ประจำ 76 จังหวัดทั่วประเทศ มีเครื่องสูบน้ำจำนวน 2,140 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 503 คัน และเครื่องจักรกลเพื่อสนับสนุนงานอื่นๆ ที่คาดว่าจำเป็นต้องใช้ในการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 3,292 หน่วย พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ รวมกันทั้งสิ้น 56,541 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ74 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 32,612 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,651 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,955 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปัจจุบัน (12 ม.ค.65) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,072 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสนับสนุนการเกษตรก่อน จากนั้นจึงใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำช่วยเสริม พร้อมกับเดินหน้าตามมาตรการรับมือการขาดแคลนน้ำ ปี 64/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกร และประชาชนทุกภาคส่วน ให้ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง