"พิชัย" เจรจา7เขตเศรษฐกิจเอเปค ชูไทยเป็นฮับการค้า-ลงทุน
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในห้วงที่ตนนำคณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ที่ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ตนได้นำคณะกระทรวงพาณิชย์หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้ารวม 7 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ชิลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน พร้อมเดินหน้าดันไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในภูมิภาค
นายพิชัย ระบุว่า ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปคในระดับผู้นำ และประกาศถึงความพร้อมของไทยสำหรับการลงทุนและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการลงทุน และผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมดิจิทัล และการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างความมั่นใจและแสดงถึงความพร้อมของไทย ในการเชิญชวนภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจสมาชิกมาลงทุนที่ประเทศไทย
“ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในทีมไทยแลนด์ ตามนโยบายของรัฐบาล ตนได้นำคณะเข้าหารือกับสมาชิกเอเปค ได้มีโอกาสพบรัฐมนตรีการค้าจากหลายเขตเศรษฐกิจ โดยได้เน้นย้ำว่า ไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับทุกเขตเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเขตเศรษฐกิจ ทั้งฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ต่างก็มองไทยเป็นศูนย์กลางของ Supply chain ด้วยความเหมาะสมด้านสภาพแวดล้อมทางการลงทุนของไทย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดี ที่จะมีการขยายการค้าการลงทุนมากขึ้น รวมถึงในด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยได้ผลักดันบทบาทของประเทศในฐานะ "ครัวโลก" เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้กับเขตเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ที่ฮ่องกงยินดีที่จะพิจารณาเพิ่มปริมาณการซื้อข้าวไทย นอกจากนี้ ยังมีอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช รวมถึงผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดฮ่องกงมาอย่างยาวนาน” นายพิชัยกล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่ออีกว่า ตนได้ใช้โอกาสนี้ในการหารือกับออสเตรเลียถึงความสำคัญของตลาดออสเตรเลียที่เป็นตลาดส่งออกยานยนต์ไทยอันดับต้น ๆ จึงขอให้ออสเตรเลียพิจารณาใช้มาตรการที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรถยนต์นำเข้าไปยังออสเตรเลียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลากับภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไทยได้มีเวลาปรับตัวและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมทั้งได้เน้นย้ำกับท่านรัฐมนตรีการค้าทุกท่านในเรื่องการส่งเสริมสินค้าและบริการผ่าน Soft Power ที่ไทยเดินหน้าประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง ซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญ เพื่อให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่รู้จัก และให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งญี่ปุ่นไปด้วยว่า ไทยพร้อมเข้าร่วมงาน EXPO 2025 OSAKA Kansai ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไทย รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Thailand Pavilion เพื่อชูศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย โดยผสมผสานศาสตร์การแพทย์สมุนไพรไทยกับนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ทั้งยังได้แจ้งต่อแคนาดาว่า ยินดีที่แคนาดาจะนำคณะนักธุรกิจ trade mission ขนาดใหญ่มาเยือนไทยในช่วงกลางปีหน้า
ตนยังได้ถือโอกาสเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ทั้งที่ยังเจรจาค้างอยู่ เช่น อาเซียน-แคนาดา ไทย-เกาหลีใต้ และที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ไทย-ชิลี ให้จบโดยเร็ว เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมถึงอำนวยความสะดวก และเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ได้ผลักดันให้รื้นฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐมนตรีกับเกาหลีใต้ ที่ห่างหายไปนานกว่า 20 ปีแล้วอีกด้วย
“วันนี้สถานการณ์การค้าการลงทุนในไทยกลับมาดีทั้งหมด จีดีพีในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3% และจากการหารือกับผู้นำใน 7 เขตเศรษฐกิจ ทุกประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะมองว่าวันนี้ รัฐบาลมีเสถียรภาพแข็งแรง มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และมีการอำนวยความสะดวกนักลงทุนเป็นอย่างดี ตนได้ย้ำกับทีมพาณิชย์ ให้ดำเนินนโยบายแบบพาณิชย์เชิงรุก คือเน้นการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ นักลงทุน เพื่อขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทยให้กว้างขวางที่สุด และช่วยกันดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาให้มากที่สุด ตัวเลขจีดีพี ปี 2568 สภาพัฒน์ก็มองว่าดี เพราะจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ซึ่งตรงนี้กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่โดยตรงที่จะทำให้ตัวเลขเป็นบวกยิ่งกว่าเดิม” นายพิชัยกล่าว