รีเซต

ผู้เลี้ยงสุกร ป้อนหมูราคาถูก 7 ส.ค.ทั่วประเทศปูพรมชำแหละขาย 130 บาทต่อโล

ผู้เลี้ยงสุกร ป้อนหมูราคาถูก 7 ส.ค.ทั่วประเทศปูพรมชำแหละขาย 130 บาทต่อโล
มติชน
2 สิงหาคม 2563 ( 07:37 )
248
ผู้เลี้ยงสุกร ป้อนหมูราคาถูก 7 ส.ค.ทั่วประเทศปูพรมชำแหละขาย 130 บาทต่อโล

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสุกรว่า สมาคมฯและกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร เตรียมขยายความร่วมมือและมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดยนำเนื้อหมูชำแหละจำหน่ายผ่านช่องทางหน่วยงานราชการและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ในราคากิโลกรัมละ 130 บาท เพื่อให้ประชาชนและผู้ค้าอาหารทั่วไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นการวางจำหน่ายพร้อมกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ สมาคม กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ นำเนื้อหมูราคา 130 บาทต่อกิโลกรัมไปจำหน่ายตามสาขาห้างทั่วประเทศ เริ่มจาก 44 จังหวัด ในสาขาค้าปลีก 8 ห้างใหญ่ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมจะมีเนื้อหมูแดงราคา 130 บาทหาซื้อได้ตามห้าง ตลาดสด หรือหน้าที่ทำการราชการ เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เป็นต้น ที่ให้ความร่วมมือกันไว้

“ยังไม่มีการกำหนดว่าจะขายเนื้อหมู 130 บาทนานเท่าไหร่ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าประชาชนไม่นิยมซื้อ และยอดจำหน่ายตามสถานที่ที่รัฐจัดเตรียมไว้ไม่มาก เพราะเชื่อว่าหลังจากที่กลุ่มผู้เลี้ยงร่วมกับภาครัฐ คงราคาหมูเป็นไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ก็ทำให้กลุ่มโรงฆ่าและชำแหละหมูจำหน่ายในราคาไม่เกิน 150-160 บาทเป็นการทั่วไป ไม่ได้สูงกิโลกรัมละ 180-200 บาทในก่อนหน้านี้แล้ว จนประชาชนร้องเรียน เพราะจากหารือทั้งระบบ ทั้งจากกลุ่มผู้เลี้ยง ชำแหละ ถึงเขียงตลาดสด พบว่าแต่ละช่วงยังมีกำไร และกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่ยืนยันตรึงราคาหมูเป็นไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัมได้อีกนานเป็นปี จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หมดลง ” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ตรึงราคาสุกรมีชีวิตไม่เกิน 80 บาทได้ เพราะยอดนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเท่าเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา การบริโภคจะยังทรงตัว แต่ที่น่ากังวลและรัฐต้องเตรียมพร้อมคือความต้องการนำเข้าหมูจากไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เจอปัญหาโรคระบาดจนทำให้ราคาหมูสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจกดดันราคาในประเทศได้ โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมนี้ ต้องควบคุมสมดุลปริมาณส่งออกให้เหมาะสมเพราะโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ รวมถึงจีน ยังสูง ซึ่งผู้เลี้ยงยืนยันยังผลิตได้เพิ่มขึ้นและไม่เกิดภาวะปริมาณตึงตัวแน่นอน โดยปัจจุบันเพิ่มกำลังผลิตได้เฉลี่ย 5 หมื่นตัวต่อวัน ในจำนวนนี้ความต้องการให้ประเทศยังไม่ถึง 4 หมื่นตัวต่อวัน และแม้ไม่คุมปริมาณส่งออกแต่ก็ส่งออกเฉลี่ย 4-5 พันตัว ยังเหลืออีกจำนวนหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง