รีเซต

กรุงเทพฯ ประเดิมแจก ATK วันแรก สปสช.เผยกลุ่มเสี่ยงขอรับที่ร้านยากว่า 400 แห่งทั่วกรุง

กรุงเทพฯ ประเดิมแจก ATK วันแรก สปสช.เผยกลุ่มเสี่ยงขอรับที่ร้านยากว่า 400 แห่งทั่วกรุง
มติชน
16 กันยายน 2564 ( 14:50 )
58
กรุงเทพฯ ประเดิมแจก ATK วันแรก สปสช.เผยกลุ่มเสี่ยงขอรับที่ร้านยากว่า 400 แห่งทั่วกรุง

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำคณะเดินทางไปติดตามการกระจายชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) แบบตรวจด้วยตนเอง (Self-test) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ร้านขายยา กนก ฟาร์มา เชน สาขาทาวน์ อิน ทาวน์ โดยร้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในร้านยาที่ร่วมมือกับ สปสช. ในการกระจายชุดตรวจเอทีเคให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยมี ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ให้ข้อมูล

 

 

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกในการเริ่มแจกชุดตรวจเอทีเคผ่านระบบบริการไปสู่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการอัพเดตแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ เพื่อให้ประชาชนที่มีความสงสัยได้เข้าไปประเมินตนเอง หากประเมินตนเองแล้วเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะมีรายชื่อร้านขายยาหรือหน่วยบริการใกล้บ้านให้ตัดสินใจว่าจะไปรับบริการอย่างไร หรือถ้าหากท่านไม่สามารถเข้าแอพพ์ฯ ใดๆ ได้ ก็สามารถเดินไปขอรับบริการได้ โดยจะมีป้ายแสดงว่าเป็น “จุดแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอรับได้ที่นี่ ฟรี!”

 

 

 

“วันนี้ที่ลงมาดูส่วนหนึ่ง คือ มาดูความพร้อมของการกระจายชุดตรวจ เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ได้เช็กความพร้อมของการกระจายชุดตรวจจากไปรษณีย์ไทยและได้ทราบว่า ชุดตรวจมาลงตามจุดแจกหมดแล้ว และมาเพื่อตรงจสอบว่าร้านขายยานั้น สามารถให้คำแนะนำประชาชนได้หรือไม่ และสิ่งที่เรากังวล คือ หลังจากที่ประชาชนตรวจแล้ว ผลตรวจเป็นบวก เราจะมีระบบที่ดูแลท่าน โดยท่านสามารถติดต่อกลับมาที่ร้านขายยาที่ท่านรับชุดตรวจไป หรือโทรศัพท์ไปที่ สายด่วน 1330 ต่อ 14 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.จเด็จ กล่าว

 

 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในวันนี้มีการกระจายชุดตรวจเอทีเคออกไปทั่วกรุงเทพฯ กว่า 1 ล้านกว่าชิ้น โดยกระจายไปตามหน่วยงานที่ได้ตกลงกันไว้ และได้เร่งการกระจายเนื่องจากมีประชาชนไปรอรับที่หน้าร้าน และจะเกิดความแออัดขึ้น ซึ่งขณะนี้มีจุดบริการร้านขายยาที่พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 400 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ จาก 1,500 แห่ง โดยสังเกตจากป้ายหน้าร้าน หรือรับบริการผ่านแอพพ์ฯ ได้ทันที หรืออีกช่องทางหนึ่งคือเข้าไปที่เว็บไซต์ของ สปสช.

 

 

“จะมีการปรับแผนเพื่อรองรับจำนวนชุดตรวจเอทีเคที่จะเข้ามา ต้องเรียนว่าอาจยังไม่ทั่วประเทศในวันนี้ แต่ว่าอย่างน้อยเขตพื้นที่สีแดง ทั้ง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางไปรษณีย์ไทยก็มั่นใจว่าจะส่งให้ครบตามที่ได้รับมอบหมาย” นพ.จเด็จ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้ว สามารถไปขอรับชุดตรวเอทีเคได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังสามารถเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะการฉีดวัคซีนนั้น เพียงแค่ช่วยให้บรรเทาอาการเวลาติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น หากประชาชนรายใดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถเข้ารับบริการได้เลย

 

 

เมื่อถามอีกว่า ในอนาคตมีแผนจะจัดส่งชุดตรวจเอทีเคถึงบ้านหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยคิดว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อลดความแออัดของประชาชนที่ไปรอรับหน้าร้าน ขณเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เริ่มอบรมเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อลงพื้นที่กระจายชุดตรวจให้ผู้ที่มีความเสี่ยงด้วย

 

 

ด้านนางวัลลาภา เอี่ยมวิจิตร อายุ 51 ปี ประชาชนคนแรกที่เดินทางไปรับชุดตรวจเอทีเคด้วยตนเอง กล่าวว่า ทราบข่าวจากทีวีว่าจะมีการแจกชุดตรวจเอทีเคในวันนี้ จึงได้ให้ลูกดาวน์โหลดแอพพ์ฯ เป๋าตัง และลงทะเบียนให้ แล้วจึงเดินทางไปรับด้วยตนเอง เพราะใกล้บ้าน ซึ่งเภสัชกรได้แนะนำวิธีการใช้และติดตามผลเป็นอย่างดี

 

 

“ขั้นตอนในการลงทะเบียนผ่านแอพพ์ฯ ไม่ยุ่งยาก เพราะมีบอกทุกขั้นตอนในนั้น จึงคิดว่าง่าย สะดวกและทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อง่ายได้ขึ้น ส่วนตัวมีโรคประจำตัว คือ ความดัน เบาหวาน และไขมัน และรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งวันนี้จะกลับบ้านไปดูวิธีการใช้ผ่านคิวอาร์โค้ดที่มีให้ และให้ลูกช่วยดูวิธีการตรวจอีกที” นางวัลลภา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง