รู้จักกันมั๊ย? “ฝนราชการ” ตกตอนเลิกงาน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
หน้าฝนทีไร จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก โดยเฉพาะคนกรุง เพราะเมื่อฝนตกก็ตามมาด้วยรถติด และน้ำท่วมขัง แถมยังเสี่ยงไม่สบายด้วย ยิ่งเป็นวันธรรมดา และชั่วโมงเร่งด่วน เวลาไปทำงานในตอนเช้า และกลับมาบ้านในตอนค่ำ ฝนมักจะตกลงมาเป็นประจำ จึงมีคำเรียกฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ว่า “ฝนราชการ”
หลายคนยังเข้าใจว่า ฝนที่ตกในเวลานี้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ความจริงเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง โดยที่เราไม่รู้ตัว สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เรียกว่าปรากฏการณ์ “โดมความร้อน” หรือ “เกาะความร้อนในเมือง” (Urban heat Island) นั่นเอง
ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง “วัฏจักรน้ำ” เสียก่อน เพื่อให้รู้ว่า “ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร?”
โดยปกติแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก จะทำให้น้ำและความชื้นต่างๆ ระเหยเป็นไอน้ำ ขึ้นไปก่อตัวเป็นเมฆบนท้องฟ้า แล้วตกลงมาเป็นฝนวนเวียนเช่นนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด
แต่ฝนราชการ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึง “กรุงเทพมหานคร” ล้วนมีอาคารบ้านเรือน และตึกสูงอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นตัวดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยตรง ประกอบกับ ไอร้อนจากรถยนต์ ความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องปรับอากาศ โรงงานอุตสาหกรรม และปัจจัยอื่น ยิ่งช่วยดูดซับความร้อนไว้มากขึ้น แต่ต้นไม้ที่คอยดูดซับความร้อนกลับมีจำนวนลดลง ทำให้ความร้อนเหล่านี้ดึงความชื้นขึ้นไปสะสมบนท้องฟ้าจำนวนมาก จนเกิดเป็นฝนตกลงมาในช่งเย็นจนถึงค่ำ
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปรากฏการณ์เกาะความร้อนที่ง่ายที่สุด คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง หรือปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยกักเก็บน้ำ รวมทั้งช่วยพัดพาความร้อนออกไปจากเมือง
เรียบเรียงโดย : สมพล จันทร์ประสาท